แนวทางการใช้ดัชนีความเชื่อมั่น ของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย วิเคราะห์ตลาดอสังหาฯ
Loading

แนวทางการใช้ดัชนีความเชื่อมั่น ของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย วิเคราะห์ตลาดอสังหาฯ

วันที่ : 21 กรกฎาคม 2566
แนวทางการใช้ดัชนีความเชื่อมั่น ของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย วิเคราะห์ตลาดอสังหาฯ

56_69276_1689918173_46784 หัวใจสำคัญของการลงทุนอสังหาฯ คือการวิเคราะห์ข้อมูลแนวโน้มทิศทางตลาดที่อยู่อาศัยให้รอบคอบ รอบด้านมากที่สุด เพื่อให้สามารถวางแผนการลงทุนได้อย่างปลอดภัย และมีโอกาสประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งใจ โดยหนึ่งในข้อมูลสำคัญที่จะช่วยให้นักลงทุนสามารถวิเคราะห์ตลาดอสังหาฯ ได้อย่างแม่นยำ อันนำไปสู่การหาจังหวะการเข้าลงทุนที่มีประสิทธิภาพได้นั้น ก็คือข้อมูลดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย โดยเราสามารถใช้ข้อมูลดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการฯ วิเคราะห์ตลาดอสังหาฯ ได้ตามแนวทางดังต่อไปนี้

 

  1. ใช้วิเคราะห์ประเมินความเสี่ยง

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย จะเก็บข้อมูลจากผลประกอบการ ยอดขาย สถานการณ์การลงทุน การจ้างงาน ต้นทุนประกอบการ และการเปิดโครงการใหม่ของบริษัท โดยหากพบว่าตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ก็จะสะท้อนว่าสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยกำลังอยู่ในช่วงวิเกฤต มีความเสี่ยง สภาพเศรษฐกิจอาจกำลังย่ำแย่ กำลังซื้ออาจหดหาย ดังนั้น แผนการลงทุนในช่วงที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการฯ ต่ำนี้ ก็ควรเน้นเป็นการลงทุนเชิงรับ หรือรอเวลาให้ตลาดกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งก่อน จึงจะปลอดภัยที่สุด แต่ในขณะเดียวกัน หากนักลงทุนมั่นใจในทำเล ที่ดิน หรืออสังหาฯ ที่หมายตาเอาไว้ และมีเงินทุนมากพอที่เป็นเงินเย็น ในช่วงที่ตลาดกำลังซบเซาดังกล่าวนี้ ก็อาจเป็นจังหวะที่ดีของการเลือกซื้ออสังหาฯ ให้ได้ในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดเช่นกัน ซึ่งแน่นอนว่าจะทำให้สามารถได้กำลังอย่างมหาศาลเมื่อตลาดพลิกกลับมาเป็นขาขึ้นอีกครั้ง

 

  1. ใช้วิเคราะห์ประเมินโอกาส

ในกรณีที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ก็แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น ผู้คนมีกำลังซื้อมาก และไม่มีปัจจัยเสี่ยงที่น่ากังวล จึงทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยกล้าที่จะลงทุนพัฒนาอสังหาฯ เพิ่มเติม เปิดโครงการใหม่ ๆ มากขึ้น สะท้อนให้นักลงทุนเห็นถึงโอกาสในการจับจองอสังหาฯ เข้าซื้อขายทำกำไร แต่อย่างไรก็ตาม แม้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยที่สูงกว่ามาตรฐาน จะสะท้อนถึงสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยที่สดใส แต่การซื้อขายอสังหาฯ ในช่วงนี้ ก็ยังคงต้องระมัดระวัง และรอบคอบอยู่เสมอเช่นกัน เนื่องจากตลาดจะมี “อุปทานเสนอขาย” ออกมาเป็นจำนวนมาก ทำให้หากไม่ได้มีการวางแผน วิเคราะห์เลือกทำเลที่ลงทุนอย่างเข้มงวด รวมถึงเข้าใจกลุ่มเป้าหมายอย่างถ่องแท้แล้ว ก็อาจนำไปสู่การตัดสินใจผิดพลาดได้เช่นกัน

 

เมื่อนักลงทุนติดตามความเคลื่อนไหวของดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยอย่างใกล้ชิดแล้ว ก็จะทำให้สามารถวิเคราะห์ตลาดอสังหาฯ โดยประเมินความเสี่ยง และโอกาสในการลงทุน เข้าซื้อ-ขาย ได้อย่างรัดกุมและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันแม้ว่าจะไม่ใช่นักลงทุนอสังหาฯ แต่เป็นผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยสำหรับไว้อยู่เอง ก็ยังสามารถใช้ประโยชน์จากดัชนีความเชื่อมั่นนี้ได้เช่นกัน โดยหากเป็นในช่วงที่ตลาดมีความเชื่อมั่นสูง ผู้ต้องการที่อยู่อาศัยก็จะมีตัวเลือกและมีอำนาจในการต่อรองมากขึ้น เพราะโครงการที่อยู่อาศัยต่าง ๆ ก็จะมีโปรโมชั่นออกมาแข่งขันกันเป็นจำนวนมาก ในขณะที่หากเป็นช่วงสถานการณ์ดัชนีความเชื่อมั่นต่ำ ก็จะทำให้ผู้ต้องการที่อยู่อาศัยกลับทบทวนประเมินการเงินตนเองได้อย่างรอบคอบมากขึ้น ทำให้สามารถตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยบนการวางแผนที่วิเคราะห์ตลาดมาแล้วว่าปลอดภัยสามารถผ่อนได้ไหวนั่นเอง

 

ติดตามสถานการณ์ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยได้ก่อนใครในทุกไตรมาสได้ที่ www.reic.or.th เพียงสมัครเป็นสมาชิกเว็บไซต์ ก็จะไม่พลาดทุกข้อมูลสำคัญในแวดวงอสังหาฯ

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

Tags :  ดัชนีความเชื่อมั่น ผู้ประกอบการ ธุรกิจพัฒนา ที่อยู่อาศัย ตลาดอสังหาฯ