อุตตม ปลื้มลงทุนอีอีซีพุ่ง สิทธิประโยชน์จูงใจคาด2ปียอดขอส่งเสริมทะลุ6แสนล้าน
Loading

อุตตม ปลื้มลงทุนอีอีซีพุ่ง สิทธิประโยชน์จูงใจคาด2ปียอดขอส่งเสริมทะลุ6แสนล้าน

วันที่ : 4 กุมภาพันธ์ 2561
อุตตม ปลื้มลงทุนอีอีซีพุ่ง สิทธิประโยชน์จูงใจคาด2ปียอดขอส่งเสริมทะลุ6แสนล้าน

"อุตตม" เผยยอดขอรับส่งเสริมในอีอีซีพุ่งขึ้นต่อเนื่อง คาด 2 ปี  6 แสนล้านบาท เกินกว่าเป้าหมายที่วางไว้ มั่นใจพ.ร.บ.อีอีซี บังคับใช้ก.พ.และโครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน เอกชนเซ็นสัญญาได้ก.ย.ปีนี้ พร้อมปรับเป้าหมายการลงทุนของ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายในช่วง 5 ปีใหม่

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(กนศ.) มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ ได้ที่ประชุมให้ทราบว่าได้ปรับเป้าหมายการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซีในปี 2561เพิ่มขึ้นเป็น 3 แสนล้านบาท เนื่องจากยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนในปีที่ผ่านมาพุ่งสูงถึง 2.99แสนล้านบาท จากเป้าหมายที่วางไว้ว่าจะมียอดขอส่งเสริมปีละประมาณ 1 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ มองว่านับตั้งแต่รัฐบาลออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนต่างๆ ในพื้นที่อีอีซี ซึ่งมีความชัดเจนตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา ส่งผลให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นที่จะเข้ามาลงทุนมากขึ้น เกินกว่าเป้าหมายในช่วงแรกที่วางไว้ 5 แสนล้านบาท ภายในระยะเวลา 5 ปี (2560-2564) ดังนั้น หากประเมินจากเป้าหมายของบีโอไอในปีนี้และเมื่อปีที่ผ่านมา เท่ากับว่า ภายในระยะเวลาเพียง 2 ปี การยื่นขอส่งเสริมการลงทุนเกินกว่าเป้าหมาย 5 ปี ที่วางไว้แล้ว

นางสาวพจนี อรรถโรจน์ภิญโญ รองเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(กนศ.) เปิดเผยว่า จากการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีความรวดเร็ว ประกอบกับนักลงทุนรอความชัดเจนในร่างพ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.  ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ที่คาดว่าจะพิจารณาแล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ อีกทั้ง หากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน สามารถประกาศทีโออาร์เชิญชวนเอกชนมาร่วมลงทุนได้ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ และสามารถลงนามสัญญากับเอกชนที่ชนะการประมูลได้ในเดือนกันยายน 2561

ทั้งนี้ จากปัจจัยดังกล่าวจะช่วยให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจ และตัดสินใจลงทุน เพราะขณะนี้นักลงทุนต่างชาติต้องการเห็นความชัดเจนของกฎหมายอีอีซี และต้องการความมั่นใจว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินจะเกิดขึ้นได้จริง

ดังนั้น ด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ในช่วงปลายปีนี้ ทางสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(สกรศ.) ในฐานะคณะทำงาน จะมีการจัดทำแผนด้านการลงทุนในอีอีซีใหม่ทั้งหมด จากช่วงแรกที่เริ่มดำเนินการประเมินเป้าหมายการลงทุนของ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายในช่วง 5 ปี ไว้เพียง 5แสนล้านบาท เพราะขณะนี้ได้เห็นสัญญาณของนักลงทุนแล้วว่า มีความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในอีอีซีอย่างต่อเนื่อง

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(กนศ.) กล่าวว่า ขณะนี้นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจและเข้ามาหารือที่จะลงทุนในอีอีซีเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะนักลงทุนจากญี่ปุ่น ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ที่ลงทุนในไทยอยู่ก่อนแล้ว ส่วนนักลงทุนจากประเทศที่ยังไม่เคยเข้ามาลงทุน กำลังรอพ.ร.บ.อีอีซี ให้มีผลบังคับใช้ เพราะต้องการความมั่นใจว่าจะมีกฎหมายรองรับ และเป็นนโยบายที่ต่อเนื่อง แม้จะมีการเปลี่ยนรัฐบาล หากเป็นเช่นนี้ จะทำให้นักลงทุนเข้ามายื่นขอส่งเสริมการลงทุนกับบีโอไอมากกว่าปี 2560 อย่างแน่นอน

"ในปีที่ผ่านมาที่มีการยื่นขอส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซีที่ 2.96 แสนล้านบาทในสัดส่วนนี้ 84%เป็นการลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการวางยุทธศาสตร์ของประเทศที่จะมุ่งไปอุตสาหกรรม 4.0 ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและนวัตกรรมได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน"

นายเจริญชัย ประเทืองสุขศรี ประธานคณะทำงานโครงการลงทุน สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(สกรศ.) 1 ใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่นักลงทุนกำลังให้ความสนใจเป็นพิเศษ จะเป็นอุตสาหกรรมอากาศยานซึ่งที่ผ่านมานักลงทุนได้ทยอยเข้ามาหารืออย่างต่อเนื่อง จากการที่มีโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นเมืองการบินภาคตะวันออกรวมถึงมีความชัดเจนในโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน(เอ็มอาร์โอ) ที่อู่ตะเภา

ทั้งนี้ ในการประชุมกนศ.ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีได้แจ้งที่ประชุมให้ทราบว่า โครงการสำคัญหลักของอีอีซีคือรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินอย่างไร้รอยต่อ อาคารผู้โดยสารสนามบินอู่ตะเภาแห่งที่ 3และทางวิ่งที่ 2 ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3และท่าเรือพาณิชย์สัตหีบต้องแล้วเสร็จภายใน 5 ปี

ยอดส่งเสริมการลงทุนปีนี้ตั้งเป้า3แสนล้านบาท

 
ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ