เร่งลงทุน 2 ล้านล้าน สั่งประมูลโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมอีอีซี ลุยแอ็กชั่นแพลน51โครงการเสร็จปี 61
Loading

เร่งลงทุน 2 ล้านล้าน สั่งประมูลโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมอีอีซี ลุยแอ็กชั่นแพลน51โครงการเสร็จปี 61

วันที่ : 3 พฤศจิกายน 2560
เร่งลงทุน 2 ล้านล้าน สั่งประมูลโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมอีอีซี ลุยแอ็กชั่นแพลน51โครงการเสร็จปี 61

"สมคิด" สั่งเร่งเครื่องแผนอีอีซี คมนาคมเปิดแอ็กชั่นแพลน ปี 2561 รวม 51 โครงการ 2.39 ล้าน ล้าน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการตรวจเยี่ยมและติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและแผนปฏิบัติการ (แอ็กชั่นแพลน) ปี 2561 ของกระทรวงคมนาคม ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นอันดับแรก ทั้งรถไฟ สนามบิน ท่าเรือ และถนน จะต้องเปิดประมูลให้แล้วเสร็จก่อน สิ้นปี 2561

ทั้งนี้ จากรายงานของกระทรวงคมนาคม พบว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะออกเงื่อนไขการประกวดราคา (ทีโออาร์) ได้ก่อนปลายปีนี้ ส่วนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก และโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 จะออกทีโออาร์ได้ก่อนไตรมาสแรกของปี 2561

นอกจากนี้ ได้สั่งการให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เร่งดำเนินโครงการแผนแม่บทรถไฟฟ้าที่เหลืออยู่ให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (ใต้) ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23.6 กิโลเมตร วงเงิน 101,112 ล้านบาท และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกช่วงศูนย์วัฒนธรรม-ตลิ่งชัน ระยะทาง 16.4 กิโลเมตร วงเงิน 1.23 แสนล้านบาท โดยขีดเส้นให้ รฟม.เปิดประมูลและลงนาม สัญญาภายในปี 2561

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวว่า สำหรับแอ็กชั่นแพลนปี 2561 มีทั้งหมด 51 โครงการ วงเงินลงทุน 2.39 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นงานที่ขับเคลื่อนต่อจากปี 2559-2560 จำนวน 43 โครงการ โครงการใหม่ปี 2561 จำนวน 8 โครงการ วงเงิน 1.03 แสนล้านบาท ประกอบด้วย 1.โครงการส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข (โทลล์เวย์) ช่วงรังสิต-บางปะอิน 2.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) กรุงเทพฯ-มหาชัย 3.โครงการขยายสนามบินกระบี่และขอนแก่น 4.โครงการท่าเรือบก จ.ขอนแก่น 5.โครงการรถไฟฟ้าภูเก็ต 6.โครงการรถไฟฟ้าขอนแก่น 7.โครงการรถไฟฟ้านครราชสีมา และ 8.โครงการรถไฟฟ้าเชียงใหม่

นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ได้ให้นโยบายอุตสาหกรรมจังหวัดและศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคให้เพิ่มความสำคัญกับการกระตุ้นการลงทุนในพื้นที่ โดยเฉพาะนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ และเขตเศรษฐกิจพิเศษ 10 เขต และระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หลังจากประเทศไทยขยับอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจขึ้น 20 อันดับ สร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ การส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนั้น ระยะแรกการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้พัฒนา 4 แห่ง ได้แก่ เขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด สระแก้ว สงขลาและมุกดาหาร ส่วนที่เหลือจะวางแผนการดำเนินงานให้เชื่อมโยงกับวิสาหกิจชุมชน อุตสาหกรรมเกษตร ท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นการลงทุนในภูมิภาค โดยจะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเร็วๆ นี้

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ