ไทยถกจีนเชื่อมศก.ภูมิภาคจากคุนหมิง-สะหวันนะเขต-อีอีซี
Loading

ไทยถกจีนเชื่อมศก.ภูมิภาคจากคุนหมิง-สะหวันนะเขต-อีอีซี

วันที่ : 14 กรกฎาคม 2560
ไทยถกจีนเชื่อมศก.ภูมิภาคจากคุนหมิง-สะหวันนะเขต-อีอีซี

นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เดือนสิงหาคมนี้ รัฐบาลยูนนานและผู้บริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษคุนหมิง จะหารือร่วมกับไทยถึงแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวทางหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง(One Belt One Road) ที่จะเชื่อมระหว่างจีนจากเขตเศรษฐกิจ (ศก.) พิเศษคุนหมิง มายังสปป.ลาว และไทย ในระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ซึ่งหลักการเบื้องต้นที่หารือนั้นจะมีการเชื่อมโยงระบบเศรษฐกิจที่ไม่ ซ้ำซ้อนและก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน

"จีนต้องการเชื่อมโยงเศรษฐกิจ 3 ประเทศด้วยการพัฒนาระบบเศรษฐกิจจากเขตศก.พิเศษคุนหมิง มายัง สะหวันนะเขต สปป.ลาว และเชื่อมมายัง อีอีซีของไทย โดยจะต้องหารือในรายละเอียด เบื้องต้นจีนต้องการเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมไฮเทคโนโลยี และมาเชื่อมกับสปป.ลาว ที่เน้นอุตสาหกรรมหนัก ส่วนอุตสาหกรรมของไทยที่อีอีซี เราก็เน้นอุตสาหกรรม ที่ใช้นวัตกรรมที่มุ่ง 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ก็ต้องมาดูว่าไม่ให้ซ้ำซ้อนและควรจะส่งเสริมกัน รวมไปถึงเส้นทางการพัฒนาโลจิสติกส์ที่จะเชื่อมจากลาว มายัง หนองคาย เข้าไทย เป็นต้น" นายอุตตมกล่าว

สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมในอีอีซีจะเป็นภาพใหญ่ของการลงทุน ขณะที่การสร้างเศรษฐกิจภายใน หรือ Local Economy ก็ต้องมุ่งสร้างความเข้มแข็งให้ธุรกิจเอสเอ็มอี ล่าสุด กระทรวงได้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (สสว.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (ธพว.) และหน่วยงานเครือข่ายจัดคลินิกเอสเอ็มอี สัญจรตามแนวประชารัฐในพื้นที่ จ.กระบี่ ใน 2 กลุ่ม จังหวัดรวม 9 จังหวัด คือ ฝั่งอันดามัน (ภูเก็ต ระนอง พังงา กระบี่ ตรัง) และภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย (สุราษฎร์ธานี ชุมพร นครศรีธรรมราช พัทลุง) โดยมุ่งเน้นความเข้าใจในนโยบาย การสนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอีในด้านต่างๆ ของภาครัฐ

รวมถึงช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน และองค์ความรู้ในการบริหารจัดการอย่าง ครบวงจรตามแนวทางของรัฐบาลที่มุ่งสร้างเศรษฐกิจ ภายใน (Local Economy) ที่ต้องการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจอุตสาหกรรมจาก "เพิ่มมูลค่า" ไปสู่ "สร้างมูลค่าเพิ่ม" ให้กับผู้ประกอบการ ในระดับท้องถิ่น เพื่อนำไปสู่การยกระดับขีดความ สามารถในการผลิตด้านการเกษตรและแปรรูปสินค้าเกษตรอย่างครบวงจรควบคู่ ไปกับการพัฒนาอุตสาหกรรมสะอาดและพลังงานทางเลือก การอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

ขณะนี้มีเอสเอ็มอีจากทั่วประเทศยื่นคำขอเงินสนับสนุนผ่าน 4 ทุกกองทุนแล้ว 9,772 ราย วงเงิน 26,639.94 ล้านบาท อนุมัติแล้ว 2,555 ราย ในวงเงิน 7,240.10 ล้านบาท อย่างไรก็ตามเพื่อให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนในส่วนของธนาคารและแนวทางการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนในสัปดาห์หน้า กระทรวง สมาคมธนาคารไทย ภาคเอกชนจะหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อหามาตรการมาเสริมให้กับเอสเอ็มอี และภายใน 2 สัปดาห์ จะได้ข้อสรุป

"เราจะพยายามหาเครื่องมือให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้นโดยจะหารือร่วมกันสัปดาห์หน้า ในเรื่องของการเพิ่มศักยภาพให้กับบรรษัทประกันสินเชื่อขนาดกลางและย่อม (บสย.)ที่ค้ำประกันเงินกู้ให้เอสเอ็มอีได้เพิ่มขึ้น การบริหารความเสี่ยงค่าเงินรองรับการส่งออก และองค์ความรู้ เกี่ยวกับการเงินในการมาร่วมเป็นโค้ชชิ่ง โดยเงินจาก 4 กองทุนหลัก ที่รวมประมาณ 3.8 หมื่นล้านบาทเราหวังว่าจะปล่อยเอสเอ็มอีหมดสิ้นปีนี้จากนั้นเราจะยกร่างพ.ร.บ.กองทุนเพื่อให้มีเม็ดเงินช่วยถาวรในปีหน้า" นายอุตตมกล่าว

 
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ