คลังชงกม.ใหม่2ฉบับรวด เช่าที่ดิน-รีดภาษีลาภลอย
Loading

คลังชงกม.ใหม่2ฉบับรวด เช่าที่ดิน-รีดภาษีลาภลอย

วันที่ : 26 มิถุนายน 2560
คลังชงกม.ใหม่2ฉบับรวด เช่าที่ดิน-รีดภาษีลาภลอย

คลังชงกฎหมายใหม่ 2 ฉบับรวด "ร่าง พ.ร.บ.ภาษีลาภลอย-ทรัพย์อิงสิทธิ" ใน 2 สัปดาห์ แจงรับฟังความคิดเห็นจบแล้ว รอชง ครม.พิจารณา ชี้ภาษีลาภลอยเก็บ 5% ถูกกว่าหลายประเทศ ยันเก็บจากกำไรดีเวลอปเปอร์ ส่วนร่าง พ.ร.บ.ทรัพย์อิงสิทธิ เป็นประโยชน์ต่อผู้พัฒนาอสังหาฯ

 

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า อีก 2-3 สัปดาห์ จะเสนอร่าง พ.ร.บ.ภาษีการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ พ.ศ. ...(ภาษีลาภลอย) ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ หลังจากได้จัดรับฟังความคิดเห็นเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยตนให้เสนอพร้อมกับร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยทรัพย์อิงสิทธิ พ.ศ. ...

 

"เรื่องภาษีลาภลอยอาจมีผลกระทบกับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ แต่เรื่องทรัพย์อิงสิทธิจะทำให้ผู้พัฒนาอสังหาฯได้ผลประโยชน์อีกมาก จะทำให้สิ่งที่เป็นสิทธิการเช่าทั้งหมด สามารถกลายเป็นสินค้าที่จะซื้อขายได้ ดังนั้นจะเสนอเข้าไปคู่กัน"  นายอภิศักดิ์กล่าว

 

กรณีของภาษีลาภลอยนั้น นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า หลักการจะดูจากหลายประเทศที่มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งไปสร้างความเจริญให้กับจุดที่เป็นสถานี ดังนั้น หลายประเทศจึงเก็บภาษีนี้เพื่อนำเงินมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่อไป เพราะโครงการเหล่านี้รัฐต้องจ่ายเงินอุดหนุน

 

"หลายประเทศทำสำเร็จ ประเทศไทยเองก็คิดว่ามีลักษณะนี้เหมือนกัน คือ ที่ดินบางแห่งอยู่ดี ๆ ก็ราคาขึ้นจากตารางวาละ 1 แสนบาท เป็นตารางวาละ 4-5 แสนบาท จึงคิดว่าต้องเก็บภาษีจากส่วนต่างที่เกิดขึ้น ถ้าไม่มีการเปลี่ยนมือก็ ไม่เสีย แต่ถ้าเปลี่ยนมือหรือซื้อขายแล้วนำไปพัฒนาต่อก็ต้องเสีย รัฐบาลขอเก็บส่วนต่างสัก 5% ถือว่าน้อยมาก บางประเทศเขาเก็บมากกว่านี้มาก"

 

ส่วนความกังวลว่าจะทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบด้วยนั้น ก็มองได้อีกมุมว่า เวลาดีเวลอปเปอร์มีที่ดินที่ได้ประโยชน์จากการปรับขึ้นของราคาที่ดินอันเนื่องจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ของรัฐ อย่างการตัดถนนผ่านนั้น ดีเวลอปเปอร์ก็ไม่ได้ลดราคาให้ผู้ซื้อ

 

"ถ้ามีการผลักภาระไปให้ผู้บริโภค ก็อย่าไปซื้อจากรายนั้นก็จบ เพราะเขาเอาเปรียบ" นายอภิศักดิ์กล่าว

 

ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้สรุปผลรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยทรัพย์อิงสิทธิ พ.ศ. ...เรียบร้อยแล้ว ซึ่งมีประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ ต้องการให้นิยามทรัพย์อิงสิทธิให้ชัดเจน, การก่อภาระผูกพันในอสังหาฯ ที่จะนำไปจดทรัพย์อิงสิทธิ, เสนอให้แก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ รวมทั้งติงเรื่องการรับฟังความคิดเห็นที่เห็นว่าควรจะเปิดเผยมากกว่านี้

 

นอกจากนี้ ยังมีความคิดเห็นอีกว่า ไม่ต้องการให้ใช้คำว่าขายกับทรัพย์อิงสิทธิ, ผู้ทรงทรัพย์อิงสิทธิ, ตั้งข้อสังเกตว่า ยังมีความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับลักษณะของทรัพย์อิงสิทธิ ว่าเป็นบุคคลสิทธิหรือทรัพยสิทธิ, การให้ทรัพย์อิงสิทธิตกทอดเป็นมรดก ในกรณีนิติบุคคลที่แตกต่างกับบุคคลธรรมดา และการโอนทรัพย์อิงสิทธิต่อ โดยเห็นว่าควรกำหนดให้มีข้อตกลงที่ชัดเจนในการระบุทรัพย์อิงสิทธิ

 

อย่างไรก็ดี ทาง สศค.ได้ตอบชี้แจงทั้งหมดแล้ว และจะนำผลการรับฟังความคิดเห็นเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อประกอบการพิจารณาร่างกฎหมายนี้ต่อไป

ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ