กล่อม 4 ไฮเทคญี่ปุ่นลุยอีอีซี "สมคิด"พกความมั่นใจประเดิมลงทุน2.5หมื่นล้าน
Loading

กล่อม 4 ไฮเทคญี่ปุ่นลุยอีอีซี "สมคิด"พกความมั่นใจประเดิมลงทุน2.5หมื่นล้าน

วันที่ : 7 มิถุนายน 2560
กล่อม 4 ไฮเทคญี่ปุ่นลุยอีอีซี "สมคิด"พกความมั่นใจประเดิมลงทุน2.5หมื่นล้าน

ลาก "ไฮสปีดเทรน" ไทย-ญี่ปุ่นไปไกลจากเชียงใหม่-จ่อลากยาวถึงระยอง หลังญี่ปุ่นขอลุยเส้นทางกรุงเทพฯ-ระยองเชื่อม 3 สนามบิน-อีอีซี แถมขอขยายเส้นทางไปถึงอยุธยารับสินค้าจากนิคมฯด้าน"สมคิด"กล่อม 4 บริษัทไฮเทคญี่ปุ่นหอบเงินลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซี ทั้งผลิตเครื่องมือแพทย์รถยนต์เคมีภัณฑ์พิเศษ คาดดีเดย์ลงทุนปลายปีนี้ 2.5 หมื่นล้านบาท

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึง การเดินทางเยือนกรุงโตเกียวญี่ปุ่นระหว่างวันที่ 5-8 มิ.ย. นี้ว่า ได้มีโอกาสพบปะกับผู้บริหารบริษัทรายใหญ่ของญี่ปุ่น 4ราย เพื่อเชิญชวนให้เข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) โดยภายหลังจากการหารือทั้ง 4รายมีความมั่นใจที่จะเข้ามาลงทุนมากขึ้น และมีความเป็นไปได้ประมาณ 90%  ที่จะมาลงทุนในไทยได้แก่ บริษัทสไปเบอร์อิงก์ ซึ่งเป็นสตาร์ต-อัพนำเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดมาผลิตวัสดุชีวภาพและอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ที่จะลงทุนใน 2 ประเทศ คือ สหรัฐฯและไทย

นอกจากนี้ ยังมีบริษัทคูราเรย์จำกัด บริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษที่สนใจร่วมทุนกับซูมิโมโตคอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นบริษัทการค้าระหว่างประเทศขนาดใหญ่ ที่มีเครือข่ายทั่วโลก,บริษัทซูบารุคอร์ปอเรชั่น ผู้ผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนและการซ่อมแซมอากาศยานสนใจที่จะลงทุนในไทยเพื่อผลิตรถยนต์ที่มีระบบความปลอดภัยสูง  ส่วนอีกบริษัท คือ เคียวเซราคอร์ปอเรชั่น บริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมเซรามิกอิเล็กทรอนิกส์โซลาร์-เซลล์ และเครื่องมือแพทย์ของญี่ปุ่น มีแผนใช้ไทยเป็นฐานขยายธุรกิจ เพื่อทำตลาดในประเทศเพื่อนบ้านอีกทั้งยังมีแผนลงทุนอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของไทยจึงได้เชิญชวนให้มาลงทุนในอีอีซี

"มีความเป็นไปได้มากกว่า 90% ที่ทั้ง 4 บริษัทจะลงทุนในอีอีซีเพราะไทยมีโครงสร้างพื้นฐานและมีศักยภาพมากกว่าประเทศเพื่อนบ้านมาก โดยเฉพาะเมื่อเข็มขัด 2 เส้นของจีนพาดผ่านจะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคและ มีแรงดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศแน่นอน"

นอกจากนี้ ยังจะหารือถึงกรณีที่ญี่ปุ่นได้ยื่นข้อเสนอขอลงทุนเส้นทางรถไฟความเร็วสูง(ไฮสปีดเทรน)ที่ไทยเตรียมพัฒนาในสายกรุงเทพฯ-ระยองเชื่อมต่อ 3 สนามบิน (สนามบินอู่ตะเภา-สนามบินสุวรรณภูมิ-สนามบินดอนเมือง) และเชื่อมต่อพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี)  โดยญี่ปุ่นได้ยื่นข้อเสนอขอขยายเส้นทางไปสิ้นสุดสถานีอยุธยา เนื่องจากเป็นเขตอุตสาหกรรมที่มีบริษัทญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนจำนวนมาก หากมีการพัฒนาเส้นทางคมนาคมเชื่อมกับอีอีซีจะเพิ่มโอกาสด้านการลงทุนได้อีกมาก

อย่างไรก็ตาม ได้มอบหมายให้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม ไปศึกษาความคุ้มค่าโครงการแล้วหากจะต้องขยาย ซึ่งในส่วนของญี่ปุ่นนั้น ได้ระบุถึงความพร้อมในการลงทุนรวมทั้งยังยื่นข้อเสนอให้การสนับสนุนด้านการเงินด้วย เนื่องจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น(ไจก้า) มีความพร้อมที่จะสนับสนุนเงินกู้ให้ หากไทยมีความต้องการ นอกจากนี้การเดินทางเยือนญี่ปุ่นครั้งนี้ยังจะหารือกับบริษัทฮิตาชิในประเด็นการผลิตระบบรางในไทยด้วย

ด้านนางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า คาดว่าทั้ง 4 บริษัท จะตัดสินใจลงทุนในปีนี้เงินลงทุนรวมไม่น้อยกว่า 25,000 ล้านบาท และหากโครงการเกิดขึ้นจะช่วยสนับสนุนการผลิตและสร้างความแข็งแกร่งของห่วงโซ่การผลิตในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ทั้งอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์อากาศยานและเครื่องมือแพทย์

ส่วนนายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรมกล่าวว่า ได้หารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดฟูกูชิมะ ซึ่งผู้ผลิตขนาดกลางและเล็ก(เอสเอ็มอี)ในอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ที่เข้มแข็งมาก จึงได้เชิญชวนให้เข้ามาลงทุนในอีอีซีเพราะเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล  นอกจากนี้วันที่ 5 มิ.ย. กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) ได้ลงนามกับจังหวัดฟูกูชิมะ เพื่อร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์การแพทย์ระดับสูง

ส่วนกรณีที่องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่นประจำกรุงเทพฯ (เจโทรกรุงเทพฯ) ต้องการให้ไทยยืนยันว่า อีอีซีเป็นนโยบายระยะยาวเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนนั้น ตนได้ยืนยันไปแล้วว่า อีอีซีเป็นนโยบายระยะยาวของไทยเพราะมีการออกกฎหมายรองรับหลายฉบับ เช่น กฎหมายของบีโอไอ, พ.ร.บ.อีอีซี, กองทุนส่งเสริมขีดความสามารถด้านการแข่งขันฯลฯแม้รัฐบาลใหม่จะยกเลิกกฎหมายได้แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย หากมีการลงทุนที่ชัดเจน คาดว่า น่าจะเริ่มเห็นนักลงทุนเข้ามาลงทุนในอีอีซีได้ตั้งแต่ปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้าแน่นอน

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

 

 

 

ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ