เขตเศรษฐกิจพิเศษปีที่ 3 (1) ตากอนุมัติ 19 โครงการ 3,401 ล.
Loading

เขตเศรษฐกิจพิเศษปีที่ 3 (1) ตากอนุมัติ 19 โครงการ 3,401 ล.

วันที่ : 1 มิถุนายน 2560
เขตเศรษฐกิจพิเศษปีที่ 3 (1) ตากอนุมัติ 19 โครงการ 3,401 ล.

เปิดฉากอย่างเร้าใจ สำหรับโครงการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ หรือ SEZ (Special Economic Zone) 10 จังหวัด ที่รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หมายมั่นปั้นมือหวังบูมเศรษฐกิจไทยที่กำลังอ่อนเปลี้ยให้กลับมากระปรี้กระเปร่าอีกครั้ง

โดยกำหนดแผนงานไว้ 2 เฟส เฟส 1 ประกอบด้วย จังหวัดตาก มุกดาหาร สระแก้ว ตราด และสงขลา เฟส 2 ประกอบด้วย จังหวัดเชียงราย หนองคาย นครพนม กาญจนบุรี และนราธิวาส เป้าหมายเพื่อดันศักยภาพเมืองชายแดน ลดความเหลื่อมล้ำ ร่วมสร้างเศรษฐกิจไทยให้เติบโต

ถึงวันนี้เป็นเวลา 2 ปีกว่าแล้ว ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า ตั้งแต่ประกาศโครงการเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2558 เป็นต้นมา จนถึง 31 มีนาคม 2560 มีผู้ขอรับการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 40 โครงการเท่านั้น เป็นวงเงินลงทุนรวม 8,541 ล้านบาท และผ่านการอนุมัติแล้ว 36 โครงการ รวมเงินลงทุน 7,951 ล้านบาท โดยที่ 3 เดือนแรกของปี 2560 ไม่มีผู้ยื่นขอรับการส่งเสริมเลยแม้แต่รายเดียว

อย่างไรก็ตาม จังหวัดตากเมืองชายแดนที่ติดกับเมืองเมียวดี เมียนมา ยังต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด ในฐานะที่เป็นเป้าหมายสำคัญที่รัฐบาลต้องการปักหมุดให้การพัฒนาเกิดขึ้นเป็น แห่งแรก กำหนดพื้นที่เป้าหมายรวม 14 ตำบล 3 อำเภอ แม่สอด พบพระ และ แม่ระมาด ตั้งเป้าการลงทุนระดับหมื่นล้าน กำหนด 13 กลุ่มกิจการเป้าหมาย อาทิ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรและประมง กิจการด้านโลจิสติกส์ เป็นต้น

ปัจจุบันเขตเศรษฐกิจพิเศษตาก มีโครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558-31 มีนาคม 2560 จำนวน 22 โครงการ เงินลงทุนรวม 3,541 ล้านบาท ซึ่งผ่านการอนุมัติแล้ว 19 โครงการ เงินลงทุน 3,401 ล้านบาท โดยการลงทุน อาทิ ชุดชั้นใน ยกทรง เสื้อโค้ต เสื้อผ้าสำเร็จรูป กางเกงยีนส์ เครื่องกลึงอัตโนมัติ เฟืองส่งกำลังเครื่องจักรกลการเกษตร รถยนต์สามล้อบรรทุก รถกึ่งพ่วง ชิ้นส่วนเหล็กหล่อ คอนเทนเนอร์ และผลิตภัณฑ์พลาสติก

สำหรับความคืบหน้า SEZ จังหวัดตาก ข้อมูลจากสำนักยุทธศาสตร์และการวางแผนพัฒนาพื้นที่ สศช.เดือนเมษายน 2560 ที่ผ่านมาระบุว่า พื้นที่ทั้ง 2 แปลงของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก 1,346 ไร่ และ 836 ไร่ ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการออกโฉนด สามารถรวบรวมที่ดินได้แล้ว 94% โดยพื้นที่ของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ได้รับความช่วยเหลือ 82 ราย เป็นเงิน 416 ล้านบาท ขณะที่ยังมีผู้คัดค้านอีก 5 ราย เป็นที่ดินจำนวน 7 แปลง 97 ไร่ อยู่ระหว่างการเจรจาเป็นเงิน 21.4 ล้านบาท

ด้านศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ หรือ One Stop Service (OSS) ด้านการลงทุนเปิดให้บริการแล้ว 2 แห่ง คือ ศูนย์ดำรงธรรม จังหวัดตาก และเทศบาลนครแม่สอด ส่วนด้านแรงงานได้เปิดให้บริการ 2 แห่ง คือ สำนักงานจัดหางาน อ.แม่สอด และสำนักงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จ.ตาก ถ.สายเอเชีย (แม่สอด-ริมเมย) อ.แม่สอด โดยเปิดให้บริการจดทะเบียนแรงงานเมียนมาในลักษณะไป-กลับ โดยสามารถพำนักได้เป็นเวลาไม่เกิน 30 วัน

ขณะที่การพัฒนาโครงสร้าง พื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ได้แก่ 1.การปรับปรุงท่าอากาศยานแม่สอด ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาซื้อขายที่ดิน และออกพระราชกฤษฎีกา เวนคืนที่ดิน ควบคู่กับการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ มีพื้นที่ที่ดำเนินการจัดซื้อแล้ว ร้อยละ 62.71 ในส่วนงานอาคารผู้โดยสาร และลานจอดเครื่องบิน อยู่ระหว่างการก่อสร้าง กำหนดแล้วเสร็จปี 2561 สำหรับงานต่อเติมความยาวทางวิ่งเป็น 2,100 เมตร ได้รับงบประมาณปี 2560 2.ทางหลวงหลายเลข 12 ตาก-แม่สอด อยู่ระหว่างก่อสร้างตอน 3 กำหนดแล้วเสร็จเดือนกันยายน 2560 และตอน 4 กำหนดแล้วเสร็จเดือนพฤษภาคม 2562 และ 3.ทางเลี่ยงเมืองแม่สอดพร้อมสะพานข้ามแม่น้ำเมย แห่งที่ 2 ระยะทาง 21.40 กิโลเมตร (ฝั่งไทย 17.25 กิโลเมตร) อยู่ระหว่างก่อสร้าง กำหนดแล้วเสร็จเดือนกันยายน 2560

ด้านศุลกากร ได้แก่ โครงการก่อสร้างด่านศุลกากรแม่สอด แห่งที่ 2 คณะอนุกรรมการด้านโครงสร้างพื้นฐาน ได้เห็นชอบในหลักการพื้นที่ 237 ไร่ ที่จะพัฒนาด่านศุลกากรแห่งใหม่บนทางหลวงแผ่นดินสาย 130 (ถนนสายใหม่) ใกล้สะพานข้ามแม่น้ำเมย แห่งที่ 2 และพื้นที่พัฒนาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก ปัจจุบันกรมศุลกากรเสนอขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 เพื่อช่วยเหลือค่าที่ดิน ผลอาสิน และสิ่งปลูกสร้างให้แก่ราษฎรผู้ได้รับผลกระทบ

ด้านอุตสาหกรรม ได้แก่ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย อยู่ระหว่างศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ส่วนด้านสาธารณูปโภค การประปาส่วนภูมิภาค อยู่ระหว่างก่อสร้างขยายการประปาส่วนภูมิภาค สาขาแม่สอด สำนักงานชลประทาน อยู่ระหว่างก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแม่สอด การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค อยู่ระหว่างก่อสร้างพัฒนาระบบไฟฟ้า ระยะที่ 1

เป็นความคืบหน้าที่ยังต้องการการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง แม้วันนี้ภาครัฐเบนเป้าไปที่โครงการอีอีซี แต่ต้องไม่ลืมว่าเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่โหมโรงมาก่อนถึง 2 ปียังรอแรงผลักดันจากภาครัฐเช่นกัน

ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ

 

 

 

ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ