เขตศก.พิเศษชายแดน อืด สะดุด อีไอเอ-เวนคืนที่ดิน
Loading

เขตศก.พิเศษชายแดน อืด สะดุด อีไอเอ-เวนคืนที่ดิน

วันที่ : 18 เมษายน 2560
เขตศก.พิเศษชายแดน อืด สะดุด อีไอเอ-เวนคืนที่ดิน

วัชระ ปุษยะนาวิน

การตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ถือเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ แต่การพัฒนาพื้นที่เพื่อรองรับยังเป็นไปอย่างเชื่องช้า เนื่องจากติดปัญหาการขอคืนพื้นที่เพื่อนำมาพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรม ขณะที่การลงทุนยังเกิดขึ้นไม่มากนัก

คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.)ได้มีมติเห็นชอบการจัดสรรที่ดินที่เพื่อพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษระยะแรก โดยให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เช่าเพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมใน 3 พื้นที่ คือ  เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว ที่ อ.อรัญประเทศ พื้นที่ 660 ไร่ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก ที่ อ.แม่สอด พื้นที่ 836 ไร่ และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลา อ.สะเดาพื้นที่ 1,196 ไร่ นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่านิคมฯในเขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.สระแก้ว มีความคืบหน้ามากที่สุด ซึ่งจากมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 มี.ค.ที่ผ่านมาได้เห็นชอบการลงทุนเพื่อการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมของ กนอ. บนพื้นที่ประมาณ 660 ไร่ ภายใต้วงเงินงบ ประมาณ 700 ล้านบาท ตอบสนองนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน

หลังจาก ครม.มีมติเห็นชอบโครงการ ทำให้ผู้ประกอบการตัดสินใจเข้าลงทุนในนิคมฯได้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยในช่วงที่ผ่านมา กนอ.สรรหาผู้รับเหมางานก่อสร้างในระยะที่1 การก่อสร้างโรงงานสำเร็จรูป สำหรับ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จำนวน 3 หลัง (5 ยูนิต) และอาคาร ลานประชารัฐ สำหรับผู้ประกอบการ ชุมชน (โอท็อป) 20 ราย ซึ่งจะแล้วเสร็จทันพิธีเปิดนิคมฯอย่างเป็นทางการในเดือนมิ.ย.นี้   จากนั้นจะดำเนินการก่อสร้างนิคมฯให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2561 คาดว่า ผู้ประกอบการจะสามารถเริ่มทยอยเข้าดำเนินการก่อสร้างโรงงานในพื้นที่ได้ตั้งแต่เดือน พ.ค.2560 โดยในขณะนี้มีผู้ประกอบการเข้ามาจองพื้นที่แล้วประมาณ 15% มีพื้นที่

ประมาณ 90 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมด 450 ไร่ นอกจากนี้ กนอ. ยังได้มีโปรโมชั่น เพื่อดึงดูดการลงทุนในนิคมฯ จ.สระแก้ว โดยจะให้สิทธิพิเศษฟรีค่าเช่าในปีแรก และยกเว้นค่าบริการบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวกในปีแรกในปีที่ 2 จะลด 50% และในปีที่ 3 จะคิดราคาปกติ โดยราคาเช่าที่ดินในเขตพาณิชยกรรมและบริการไร่ละ 190,900 บาทต่อปี เขตอุตสาหกรรมทั่วไป 166,000 บาทต่อปี เขตประกอบการเสรี 199,200 บาทต่อปี พื้นที่สถานีไฟฟ้าย่อย 166,000 บาทต่อปี

"ผู้ที่ได้รับสิทธิพิเศษนี้ จะต้องมีระยะเวลาการเช่าไม่น้อยกว่า 10 ปี ต้องทำสัญญาเช่าภายในวันที่ 30 มิ.ย. 2560 ผู้เช่าต้องเริ่มดำเนินการพัฒนาหรือก่อสร้างภายใน 1 ปี นับจากวันทำสัญญา และต้องเปิดด่าเนินการภายใน 3 ปีนับจากวันทำสัญญา" ส่วนความคืบหน้านิคมฯ ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.ตาก ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) โดยในส่วนของการพัฒนาที่ดินกรมธนารักษ์ได้จ่ายเงินชดเชยให้แก่ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่และได้รับผลกระทบครั้งที่ 1 แล้วเมื่อ วันที่ 25 มี.ค.2560 และจะจ่ายอีกครั้งเมื่อได้รับเงินจากสำนักงบประมาณ และยังมีผู้คัดค้านการเพิกถอนที่ดินโดยอ้างว่ามีกรรมสิทธิ์ในที่ดินมาก่อน รวม 4 รายจำนวน 6 แปลงเนื้อที่ประมาณ70ไร่  "หากกรมธนารักษ์แก้ปัญหาในส่วนนี้ ได้ก็จะส่งมอบให้กนอ.พัฒนาต่อ ขณะนี้ กนอ. ได้ออกแบบก่อสร้างนิคม โดยบริษัท ที่ปรึกษาออกแบบงานก่อสร้าง ได้จัดส่งงานงวดที่ 3 แบบก่อสร้างและเอกสารประกอบฉบับ สมบูรณ์ให้ กนอ. แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการแก้ไขแบบของระบบต่างๆ"

ด้าน โครงการนิคมฯ จ.สงขลา คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ ของจังหวัดสงขลาได้ประชุมพิจารณารายงาน อีไอเอ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 24 มี.ค.2560 และได้มีข้อคิดเห็นให้ กนอ.จัดส่งข้อมูลเพิ่มเติมซึ่ง กนอ.จะได้ดำเนินการต่อไปส่วนความคืบหน้าการพัฒนาพื้นที่ สำนักงานที่ดินสะเดา ได้ดำเนินการออกโฉนดที่ดินแล้ว และได้จัดส่งให้กรมธนารักษ์แล้วแต่ยังไม่สามารถให้ กนอ. เช่าพื้นที่ได้ เนื่องจากยังมีผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าว และยังไม่ยอมขนย้าย รื้อถอน อาคารหรือสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดิน

ทางจังหวัดสงขลาได้มีหนังสือแจ้งว่าจะเร่งดำเนินการให้ราษฎรที่บุกรุกในพื้นที่ ฝั่งตะวันตก จำนวน 660 ไร่ ที่ยังเหลืออีก 2 ราย รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากพื้นที่ภายในเดือน เม.ย.นี้ เพื่อที่จะได้ส่งมอบพื้นที่แปลงนี้ให้ กนอ.เช่าก่อน

"ขณะนี้ บริษัทที่ปรึกษาออกแบบงานก่อสร้าง ได้จัดส่งงานงวดที่ 3 แบบก่อสร้างและเอกสารประกอบฉบับสมบูรณ์ให้ กนอ. แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการแก้ไขแบบของระบบต่างๆ"  ส่วนนิคมฯในเขตเศรษฐกิจชายแดน ระยะที่ 2 ประกอบด้วยจังหวัดเชียงราย นครพนม กาญจนบุรี และนราธิวาสนั้นคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ได้มอบหมายให้ กนอ. จัดตั้งนิคมฯเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน จ.นราธิวาส ตั้งอยู่ในตำบลละหาร อำเภอยี่งอ

กนอ.ได้ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมเบื้องต้นแล้ว ได้ผลสรุปว่ามีที่ดินที่มีความเหมาะสมต่อการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม เป็นเนื้อที่รวม 1,730 ไร่ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและบริการในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ โดยใช้วัตถุดิบและแรงงานในพื้นที่ สร้างความมั่นใจให้ประชาชน และเพิ่มพื้นที่ปลอดภัย

ส่วนความคืบหน้าล่าสุด อยู่ระหว่างดำเนินการจัดจ้างที่ปรึกษาศึกษาเพื่อจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และอยู่ระหว่างการขออนุมัติงบประมาณจากสำนักงบประมาณ

คณะกรรมการ กนอ. ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการต่อรองราคาที่ดินแล้ว และได้แจ้งให้เจ้าของที่ดินเสนอราคาขายพร้อมเงื่อนไขมายังคณะอนุกรรมการฯเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการจ้างที่ปรึกษาประเมินราคาที่ดิน นายวีรพงศ์ กล่าวว่า ในส่วนของโครงการ จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมยางพารา (รับเบอร์ซิตี้)  ในนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ จ.สงขลา ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 21 มี.ค.2560 คิดเป็นปริมาณงานที่ทำได้ 42.43% คาดว่า ในเฟส 1  จะเริ่มเปิดให้บริการได้ในปี 2561 และจะใช้งบ ประมาณพัฒนาในปี 2560 รวม 1 พันล้านบาท แบ่งเป็นงบจากภาครัฐราว 600 ล้านบาท และ กนอ. 400 ล้านบาท "กนอ มั่นใจว่านิคมฯยางพารา คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมรองรับนักลงทุนภายในปี 2561"

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

 

 

 

ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ