เขตศก.ชายแดนติดหล่ม!! จี้แก้ให้ตรงจุดก่อนเดินหน้า
Loading

เขตศก.ชายแดนติดหล่ม!! จี้แก้ให้ตรงจุดก่อนเดินหน้า

วันที่ : 26 สิงหาคม 2562
ย้อนไปดูนโยบายจุดพลุ 'การจัดตั้ง" เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 10 จังหวัด หรือ เอสอีแซด ตั้งแต่สมัยเป็นรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช. เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ถือเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของ คสช. ที่หวังให้เป็นผลงานชิ้นโบแดงปลุกกระแสการพัฒนาพื้นที่เชื่อมโยงการค้าการลงทุนลดความเหลื่อมล้ำกระจายรายได้สู่ภูมิภาค
          ย้อนไปดูนโยบายจุดพลุ 'การจัดตั้ง" เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 10 จังหวัด หรือ เอสอีแซด ตั้งแต่สมัยเป็นรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช. เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ถือเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของ คสช. ที่หวังให้เป็นผลงานชิ้นโบแดงปลุกกระแสการพัฒนาพื้นที่เชื่อมโยงการค้าการลงทุนลดความเหลื่อมล้ำกระจายรายได้สู่ภูมิภาค สร้างความมั่นคง มั่งคั่งชายแดน หลังเห็นเงินการค้าชายแดนแต่ละปีแตะหลักล้านล้านบาท

          ถึงขนาด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. สมัยนั้น นั่งเป็นประธานหัวโต๊ะเอง ทำเอาทุกภาคส่วนออกโรงเด้งรับพร้อมงัดสารพัดมาตรการออกมากันพรึ่บพรั่บฟังแล้วเคลิบเคลิ้มฝันไกลตามภาพแต่ละหน่วยงานฉายออกมาอย่างสวยหรู!

          5 ปียอดลงทุนจิ๊บจ๊อย

          แต่...เมื่อตื่นจากฝัน กลับมาสู่โลกแห่ง "ความเป็นจริง" ไล่ย้อนดูความคืบหน้าการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ  10 จังหวัดไล่ตั้งแต่ สระแก้ว ตาก มุกดาหาร ตราด สงขลา หนองคาย นราธิวาส เชียงราย นครพนม และกาญจนบุรี ตัวเลขมูลค่าการลงทุนคงไม่เป็นที่ "ปลื้มใจ" บิ๊กตู่ เพราะผ่านมา 5 ปีตั้งแต่ 58-ปัจจุบัน มีการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษรวมเพียง 20,500 ล้านบาท แบ่งเป็นตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนผ่านสำนักงานส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ประมาณ 10,600 ล้านบาท การจัดตั้งธุรกิจใหม่ 6,500 ล้านบาท และโครงการลงทุนของเอกชนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตราดและกาญจนบุรี 3,400 ล้านบาท

          ทั้งที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณในช่วง 5 ปีไปแล้วสูงถึง 37,452 ล้านบาท ไล่ตั้งแต่ปี 58 ได้ 2,377 ล้านบาท  ปี 59 ได้ 6,168 ล้านบาท ปี  60 ได้ 10,267 ล้านบาท ปี  61 ได้ 9,883 ล้านบาท และปี  62 ได้ 8,757 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน  67%  และรัฐบาลได้อัดสิทธิประโยชน์มาตรการทางภาษีเต็มเหนี่ยวโดยบีโอไอกำหนด 13 กลุ่มกิจการเป้าหมายได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี ลดหย่อน 50% อีก 5 ปี ให้ใช้แรงงานต่างด้าวยื่นใช้สิทธิได้ตั้งแต่ 1 ม.ค. 58-30 ธ.ค. 63

          ก.ม.เป็นวุ้นอีอีซีแซงหน้า

          แม้แต่หัวใจสำคัญอย่างร่างพระราชบัญญัติ หรือพ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่ "ตั้งแท่น" มาตั้งแต่ปี 58 จนปัจจุบันก็ยังไม่สามารถตัดสายสะดือได้ แถมยังให้พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 หรือ พ.ร.บ.อีอีซี  ที่มาทีหลังแซงหน้าไฟขียวผ่านโลดออกวิ่งนำหน้าไปก่อนแล้ว

          นี่!! จึงเป็นเหตุผล "สำคัญ" ที่ทำให้โครงการเอสอีแซด ไม่แจ้งเกิดอย่างสวยงาม เพราะทั้งรัฐบาลและนักลงทุนส่วนใหญ่หันไป "โฟกัส" พื้นที่ทำเลทองอีอีซีกันหมดทำให้โครงการนี้หมดเสน่ห์อย่างราบคาบ

          หากย้อนไปดูความเห็นต่าง ๆ ตั้งแต่แรกเริ่มโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนมีภาคเอกชนหลายคน ต่างออกมาให้ความเห็นตรงกันว่า "เกิดยาก" โดยพูดกันตั้งแต่ยังไม่มี "โครงการอีอีซี"ด้วยซ้ำ

          อย่างที่ "พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล" ที่ปรึกษากรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เคยเห็นว่า การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษต้องเป็นพื้นที่ที่พิเศษอย่างแท้จริง และต้องสร้างความชัดเจน ทั้งเรื่องภาษี การเคลื่อนย้ายคน ทุกอย่างต้องพิเศษ และฟรีจริง นักลงทุนถึงจะสนใจไปลงทุน โดยส่วนตัวเห็นว่า...ยังขาดความชัดเจนด้านโครงสร้าง ไม่ได้กำหนดให้ชัดเจน ตรงไหน? จะเอาอะไรกันแน่...ซึ่งต้องพูดให้ชัดว่าจะให้เขาไปลงทุนผลิตอะไร ซึ่งส่วนตัวแล้วมองไม่เห็นเป็นรูปธรรมตรงไหนเลย!! เห็นแต่ พูด ๆ กัน และเนื้องานที่ชัดเจนจริง ๆ ในแต่ละแห่งมีหรือเปล่า?  ถ้ายังเป็นแบบนี้ความหวังที่จะเห็นการใช้เขตเศรษฐกิจพิเศษในแต่ละแห่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจชายแดนผมมองว่า "คงอีกนาน”

          ฟันธงตั้งแต่แรกเกิดยาก

          สอดคล้องกับความเห็นเอกชนอีกรายหนึ่ง ที่มองว่า  นโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในปัจจุบันนี้...เรียกได้ว่าแทบล้มเหลวไม่เป็นท่า มีแค่บางพื้นที่เท่านั้นที่คืบหน้า เพราะส่วนหนึ่งรัฐบาลไม่โฟกัสเต็มที่หน่วยงานที่รับผิดชอบก็สะเปะสะปะ ไม่เป็นหนึ่งเดียวต่างคนต่างทำทุกวันนี้ยังงงกันอยู่เลยว่า ใครรับผิดชอบกันแน่!!! บ้างก็ว่า กระทรวงมหาดไทย บ้างก็ว่า สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสศช. ไม่มีหัวหน้าทีมที่ชัดเจน ยังดีที่มี "นายกฯ" นั่งเป็นหัวโต๊ะ  ที่สำคัญตอนนี้...ถนนทุกสายของการลงทุนทั้งตัวรัฐบาลเอง และนักลงทุน ต่างมุ่งโฟกัสไปที่พื้นที่  "อีอีซี" กันหมดเพราะรัฐบาลให้ความสำคัญ พุ่งเป้าชัดเจนประโคมข่าวไปทั่วโลก ประกาศเป็น "แมคเนต" ลงทุนใหม่ ทิ้งโครงการเอสอีแซดไว้อย่างเดียว ทั้งที่การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษโดยเนื้อในตั้งแต่ต้นแล้วเป็นเรื่องที่ดี  แต่รัฐบาลไม่แยกให้ชัดในแต่ละเขตว่า มีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

          ดูจีนของไทยไร้เสน่ห์

          "เขตเศรษฐกิจพิเศษจะทำแบบเดิมไม่ได้แล้ว ต้องกลับไปดูที่จีนเขาทำสำเร็จได้อย่างไรที่สามารถดึงดูดความสนใจให้คนไปลงทุนและสร้างความเจริญให้กับคนในพื้นที่นั้น ๆ ได้อย่างไรบ้าง ไม่ใช่มีแค่ที่ดินแล้วป่าวประกาศเชิญเอกชนไปลงทุนอย่างเดียวมองว่า ผิดตั้งแต่เริ่มต้นรัฐบาลไทยต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในการพัฒนาท้องที่ เพื่อทำให้จุดนั้นเจริญเติบโต คนพื้นที่ได้ส่วนร่วมโดยรัฐต้องอัดฉีดเข้าไปสร้างความเจริญในพื้นที่ตรงนั้น แล้วนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อสร้างความต้องการให้เกิดขึ้นในพื้นที่นั้น ๆ อย่างครบวงจร"

          ยังมีอีกมุมหนึ่งที่น่าสนใจ ให้ยกเลิกนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนไปเลย!!  เพราะไหน ๆ แล้วหลายโครงการยังไม่ค่อยมีความคืบหน้าเท่าที่ควร คำขอก็มีไม่มาก  เกรงว่าหากทุ่มงบประมาณลงทุนเต็มที่จะไม่มีนักลงทุนเข้ามาลงทุนตามเป้าหมายสุดท้ายได้ไม่คุ้มเสีย และทุกวันนี้หากฟังนโยบายรัฐบาลดี ๆ ยังระบุว่าจะนำโมเดลอีอีซีไปขยายในภาคอื่น ๆ ก็อาจทับซ้อนกับนโยบายเอสอีแซดได้

          เริ่มต้นใหม่ให้ถูกทาง

          ไม่เพียงเท่านี้!! การย้ายพื้นที่การลงทุนเข้าไปใช้พื้นที่ของประเทศเพื่อนบ้านแทนอาจเช่าพื้นที่ 50-100 ปีแล้วพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจากไทยเข้าไปพื้นที่ปลายทางเพื่อให้นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติใช้สิทธิประโยชน์ของประเทศปลายทางที่น่าสนใจกว่าไทยโดยเฉพาะด้านต้นทุนแรงงาน สิทธิพิเศษทางภาษี (จีเอสพี) เพราะการจัดตั้งฝั่งไทยมีต้นทุนสูงกว่าฝั่งเพื่อนบ้านอย่างมากโดยเฉพาะค่าแรงของไทยระดับปัจจุบันที่สูง

          ถือเป็น "อีกมุม" ที่ยอมตัดยุทธศาสตร์ที่ดูเหมือนบิด ๆ เบี้ยว ๆ มาตั้งแต่ต้น เพื่อ "เริ่มต้น"ใหม่ในทางที่ควรจะเป็น!!! แต่เชื่อว่า แนวทางนี้ น่าจะดู "ฮาร์ดคอร์" เกินไป เพราะล่าสุด "สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" รองนายกฯ ออกมาระบุว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามสนับสนุนเรื่องนี้มาตลอดแต่บางพื้นที่ก็มีข้อจำกัด บางพื้นที่ก็ขับเคลื่อนต่อไปได้และมีจำนวนผู้เข้ามาลงทุนหลายราย เช่น สระแก้ว ตาก สงขลา ซึ่งนโยบายจากนี้ยังคงเดินหน้าสนับสนุน ต่อไปแต่จะเป็นในรูปแบบใด หรือปรับเปลี่ยนอย่างไรคงต้องรอดูกันอีกที

          ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ต้อง "ติดตาม" ตอนต่อไปว่า รัฐบาลภายใต้แกนนำคนเดินจะเดินหน้านโยบายเขตเศรษฐกิจชายแดนอย่างไร? ต้องถือว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะรัฐบาลที่แล้วมีอำนาจเต็มเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ผ่านมา 5 ปียังไปไม่ถึงไหน  ได้แต่หวังว่านโยบายที่รัฐบาลยังเสียงแข็งเดินหน้าต่อไป คงนำปัญหาติดหล่มมา 5 ปีมาตกผลึกแก้ปัญหาให้ตรงจุดแล้วเดินหน้าให้เป็นไปตามเป้าหมายแบบที่จุดพลุไว้ตั้งแต่ต้นสักที

          จุดต้นกำเนิดเขตศก.พิเศษ

          "ชาญวิทย์ อมตะมาทุชาติ" อดีตรองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ชี้แจงว่า แต่เดิมแนวคิดการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เกิดขึ้นอย่างจริงจังสมัยรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" เป็นนายกรัฐมนตรีและสานต่อให้เกิดขึ้นจริงในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 1 เหตุผลหลักในการผลักดันเริ่มจากรัฐบาลต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันบริเวณพื้นที่ชายแดนขึ้นมาซึ่งเป็นหนึ่งในแนวนโยบายการกระจายความเจริญไปสู่เมืองชนบทไม่ใช่กระจุกอยู่เพียงแค่กรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ ควบคู่กับการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชนบท ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำเมื่อเทียบกับคนเมืองให้แคบลง"จุดเริ่มต้นแรก ๆ มาจากการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจหรือกรอ.ในระดับภูมิภาค ที่เสนอเรื่องเข้ามาให้รัฐบาลพิจารณาโดยมีหลายพื้นที่ที่ภาคเอกชนเห็นว่ามีความเหมาะสมที่จะพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทางสศช.จึงได้รวบรวมความเห็นเหล่านี้ มาศึกษาและเห็นสมควรว่า ต้องผลักดันเรื่องนี้ให้ออกมา แต่ต้องไปดูข้อมูลหลายส่วนมาประกอบว่า เมื่อผลักดันมาแล้วต้องมีสิทธิประโยชน์พิเศษอะไรออกมาช่วยดึงดูดความสนใจให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้รวมไปถึงพื้นที่ต่าง ๆ มีกิจการอะไรที่เหมาะสมเข้าไปตั้งในพื้นที่เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างการจ้างงานได้"

          หลังจากต่อยอดแนวคิดและศึกษาจนถี่ถ้วนแล้ว สศช. จึงได้กำหนดพื้นที่ที่เหมาะสม โดยเล็งพื้นที่ชายแดนที่สำคัญ ส่วนใหญ่มีมูลค่าการค้าระหว่างชายแดนเป็นอันดับต้น ๆ แล้วนำมาเสนอให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ตั้งขึ้นตามคำสั่งของหัวหน้าคสช.ใน ช่วงนั้น โดยมองว่าการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ นอกจากจะช่วยส่งเสริมการค้าบริเวณชายแดนให้มากขึ้น และทดแทนการส่งออกแล้วยังช่วยแก้ปัญหาด้านความมั่นคงของประเทศได้อีกทางหนึ่ง เพราะเมื่อคนในพื้นที่ชายแดนมีอาชีพ มีรายได้จากการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ปัญหาต่าง ๆ ที่เคยมีมาก่อนจะค่อย ๆ ทุเลาลง โดยเฉพาะการลักลอบหลบหนีเข้าเมืองมาทำงานของแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านด้วย

          แจงนโยบายพลุแตกติดหล่ม?

          "ปรัชญา สมะลาภา"  รองประธานกรรมการหอการค้าไทย บอกว่า โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาลชุดก่อน ได้ขับเคลื่อนนั้นยอมรับว่าที่ผ่านมาค่อนข้างเงียบและนักลงทุนให้ความสนใจไม่มากนัก ซึ่งต่างจากโครงการอีอีซี ที่นักลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจอย่างมาก เนื่องจากโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษที่อยู่ตามชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เน้นส่งออกหรือกระจายสินค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านเป็นหลัก แต่หากจะส่งออกไปทวีปอื่น ก็ต้องผ่านท่าเรือแหลมฉบัง มีระยะทางที่ไกลประกอบกับเรื่องของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์ยังน้อยและที่สำคัญสิทธิพิเศษทางภาษีจูงใจไม่มาก

          ทั้งนี้จากการสอบถามนักลงทุนไทยและต่างชาติ มองว่า หากเทียบกันระหว่างโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษตามชายแดนกับอีอีซี จะเลือกลงทุนที่ใด ส่วนใหญ่ตอบเสียงเดียวกันว่า "อีอีซี" ที่โครงการมีความชัดเจนจากรัฐบาลมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ที่ชัดเจนมาก และถือเป็นจุดขายของรัฐบาลที่จะชักจูงต่างชาติเข้ามาลงทุนด้วย

          แต่แม้จะเงียบมาก...แต่รัฐบาลชุดใหม่ต้องเข้าไปขับเคลื่อนต่อ เพราะเศรษฐกิจของประเทศค่อนข้างที่จะขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งเมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ที่สำคัญผู้บริโภคเหล่านี้ให้การยอมรับสินค้าจากไทยอย่างมาก เบื้องต้นนำร่องให้เกิดเป็นรูปธรรมให้ได้ก่อน 3 พื้นที่ คือ แม่สอด จังหวัดตาก, สะเดา จังหวัดสงขลา และ จังหวัดสระแก้ว เพราะเป็นชายแดนที่มีขนาดใหญ่มีมูลค่าการซื้อขายจำนวนมหาศาล

          "ตอนนี้ที่เห็นได้ชัดเจนและเป็นรูปธรรมและคึกคักมากที่สุด...คงหนีไม่พ้นที่แม่สอด...แต่มีอุปสรรคหลายเรื่องเช่นกัน ที่รัฐบาลต้องจริงจังในการผลักดันต่อไป คือ เรื่องของราคาที่ดินที่ปรับขึ้น จนเอสเอ็มอีไม่สามารถที่เข้าไปซื้อหรือเช่าได้ เนื่องจากมีการเก็งกำไรที่ดินกันมาก พร้อมกันนี้ก็ต้องผลักดันเรื่องของเส้นทางคมนาคมขนส่งให้มากขึ้น เพราะผู้ประกอบการจำนวนมากบ่นว่ารถติด เดินทางไม่สะดวกและที่สำคัญเรื่องของสิทธิพิเศษเรื่องของภาษีต้องจูงใจกว่านี้"
 
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ