ประกันชีวิต ขยับลงทุนอสังหา
Loading

ประกันชีวิต ขยับลงทุนอสังหา

วันที่ : 28 พฤศจิกายน 2562
ธุรกิจประกันชีวิตดิ้นปรับพอร์ตลงทุนลุยอสังหาฯ ฝ่ามรสุมยุคดอกเบี้ยต่ำ "เอไอเอ" จ่อผุดตึกใหม่ "ออฟฟิศ ให้เช่า" ย่านบางนา "เมืองไทย" เปิดตัว "66 Tower" รุกอสังหาฯเต็มสูบปีละ 1 หมื่นล้านบาท
        ดิ้นปรับพอร์ตหายีลด์สูงหนีภาวะดบ.ต่ำ
        ธุรกิจประกันชีวิตดิ้นปรับพอร์ตลงทุนลุยอสังหาฯ ฝ่ามรสุมยุคดอกเบี้ยต่ำ "เอไอเอ" จ่อผุดตึกใหม่ "ออฟฟิศ ให้เช่า" ย่านบางนา "เมืองไทย" เปิดตัว "66 Tower" รุกอสังหาฯเต็มสูบปีละ 1 หมื่นล้านบาท ฟาก "โตเกียวมารีน" เล็งซื้อที่ดินสร้างตึกรองรับพนักงานหลังควบรวม "ประกันคุ้มภัย" พร้อมเปิดสำนักงานให้เช่า ยอมรับลงทุน อสังหาฯให้ผลตอบแทนดี แต่เสี่ยงสูง ด้าน "ไทยประกัน" ชั่งใจหวั่นซัพพลายอสังหาฯเปิดใหม่ล้นตลาด
        นายสุขวัฒน์ ประเสริฐยิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายลงทุน เอไอเอ ประเทศไทย เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า บริษัทเตรียมลงทุนโครงการอสังหาริมทรัพย์เพิ่มอีก 1 โครงการ เป็นสำนักงานให้เช่าย่านบางนา เป็นตึกที่ทันสมัย เป็นมิตร กับสิ่งแวดล้อม หลังจากที่ผ่านมาได้ ลงทุนอสังหาฯไปแล้ว 2 โครงการ มูลค่าราว 2.7 หมื่นล้านบาท ได้แก่ อาคาร เอไอเอ สาทร ทาวเวอร์ กับอาคารเอไอเอ แคปปิตอล เซ็นเตอร์ ทั้งนี้ ปัจจุบันการลงทุนในอสังหาฯของบริษัทมีอยู่ราว 3% ของพอร์ตลงทุนรวม 9 แสนล้านบาท
        "พอร์ตลงทุนบริษัท ส่วนใหญ่ยังเน้นพันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้ถึง 85% และหุ้นอีก 12%" นายสุขวัฒน์กล่าว
        นายสมโพชน์ เกียรติไกรวัล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โตเกียว มารีนประกันชีวิต (ประเทศไทย) กล่าวว่า บริษัทแม่ (Tokio Marin Group) ในประเทศญี่ปุ่น มีนโยบายให้บริษัทหาซื้อที่ดินเพื่อสร้างตึกของบริษัท ส่วนหนึ่งเพื่อรองรับพนักงานของโตเกียวมารีนประกันชีวิต และโตเกียวมารีนประกันภัย ที่จะควบรวมกิจการกับประกันคุ้มภัย เสร็จเรียบร้อยภายในเดือน ก.พ. 2563 ซึ่งอาจจะต้องมีสำนักงานให้เช่าเพื่อเพิ่มรายได้ด้วย
        นางสาวยุวดี เฉลิมศรีภิญโญรัช รองกรรมการผู้จัดการสายงานบริหารการเงิน บมจ.โตเกียวมารีนประกันชีวิต กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทใช้วิธีการลงทุนผ่านกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) ยังไม่ได้ลงทุนในอสังหาฯโดยตรง โดยพอร์ตลงทุนรวมของบริษัทอยู่ที่ 30,000 ล้านบาท
        "เราอาจจะยังไม่มีการลงทุนในอสังหาฯ โดยตรง แต่ลงทุนผ่านรีทประมาณ 10 กอง ซึ่งผสมอยู่ในกองหุ้น รวมกันสัดส่วนประมาณ 3% โดยปีหน้าคาดว่ามีแผนจะลงทุนเพิ่มขึ้นเป็น 5% ทั้งนี้ ส่วนใหญ่เรายังคงลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล 80% และหุ้นกู้ 15%" นางสาวยุวดีกล่าว
        อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการลงทุน อสังหาฯ จะได้ผลตอบแทนสูงกว่าการลงทุนในพันธบัตร เนื่องจากมีความเสี่ยงมากกว่า โดยอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนอสังหาฯเฉลี่ยอยู่ที่ 6-8% แต่การจะลงทุน ก็ต้องขึ้นกับนโยบายของบริษัทด้วย ว่าต้องการที่จะรับความเสี่ยง (take risk) กรณีลงทุน อสังหาฯที่เป็นอาคารหรือไม่ และควรจะลงทุนอสังหาฯขนาดใด เนื่องจากเกณฑ์สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) อนุญาตให้ลงทุนแต่ละโครงการได้ในสัดส่วน 5% ของพอร์ตลงทุนรวมเท่านั้น
        "ถ้าเราจะลงทุนในอสังหาฯ เราลงได้แค่ 1,500 ล้านบาทต่อโครงการเท่านั้น ดังนั้น ถ้าจะสร้างตึกเองอาจจะได้แค่ตึกขนาดเล็ก อยู่ในโลเกชั่นที่ไกลตัวเมือง ซึ่งอาจจะไม่ดึงดูดใจเท่าที่ควร ฉะนั้น คนที่จะลงทุนในตึกโครงการได้ จะต้องมีขนาดของ asset ที่ใหญ่พอสมควร ขณะเดียวกันก็ต้องมั่นใจว่าจะต้องไม่ทำความเสี่ยงให้กับเงินลูกค้า" นางสาวยุวดีกล่าว
        นางวรางค์ ไชยวรรณ กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บมจ.ไทยประกันชีวิต กล่าวว่า บริษัทประเมินแล้วว่ายังไม่มีความจำเป็นต้อง ลงทุนในอสังหาฯ เพราะกังวลกับซัพพลายของอสังหาฯใหม่ที่เข้ามาในตลาดช่วง 2-3 ปีนี้ อย่างไรก็ดี จากภาวะดอกเบี้ยต่ำ บริษัทก็ต้องประเมินและมีการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากขึ้น รวมถึงปรับพอร์ตสินค้าที่ขายให้สอดคล้องกับ ภาวะผลตอบแทนในปัจจุบัน
                  ก่อนหน้านี้ บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต ได้เปิดตัวลงทุนโครงการด้านอสังหาฯเพื่อเช่า โดยมีแผนลงทุนออฟฟิศ บิลดิ้งแบรนด์ใหม่ "66 Tower" บนที่ดิน 4 ไร่เศษ สุขุมวิท 66 มูลค่ากว่า 3,800 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 1% ของพอร์ตลงทุนรวมของบริษัท 5 แสนล้านบาท ซึ่งบริษัทตั้งเป้าลงทุนปีละ 2 โครงการ มูลค่าราว 10,000 ล้านบาทต่อปี มีความเป็นไปได้ทั้งรูปแบบการซื้อกิจการ (M&A) และลงทุนสร้างใหม่
        นายสมประโชค ปิยะตานนท์ ผู้ช่วยเลขาธิการสายกำกับการลงทุน คปภ. กล่าวว่า คปภ.ได้ปรับเกณฑ์เกี่ยวกับการลงทุนอสังหาฯของบริษัทประกัน เนื่องจากเห็นว่าภาระอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง ส่งผลให้บริษัทประกันต้องหา ผลตอบแทนให้เพียงพอต่อภาระผูกพัน โดยได้กำหนดมูลค่าการลงทุนแต่ละโครงการต้องไม่เกิน 5% ของสินทรัพย์รวม และมูลค่ารวมทุกโครงการต้องไม่เกิน 15% ของสินทรัพย์รวม ทั้งนี้ ให้ลงทุน อสังหาฯได้ 5 ประเภท คือ 1.อาคารสำนักงาน 2.อาคารเพื่อการพาณิชย์ 3.อาคารโรงงาน 4.อาคารเก็บสินค้า และ 5.อาคารที่พักอาศัย
 
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาคเอกชน อื่นๆ