ธอส.แนะรัฐช่วยอสังหาเพิ่มเกณฑ์บ้าน 3-5 ล้าน
Loading

ธอส.แนะรัฐช่วยอสังหาเพิ่มเกณฑ์บ้าน 3-5 ล้าน

วันที่ : 18 กุมภาพันธ์ 2564
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เเนะ รัฐ เพิ่มมาตรการ อสังหา ขยายเพดานระดับราคาบ้าน 3-5 ล้านบาท
          ทันหุ้น -ธอส. กระตุ้นรัฐเพิ่มมาตรการ อสังหา แนะขยายตลาดที่พักอาศัยระดับราคา 3-5 ล้านบาท คาดช่วยให้ มูลค่าการโอน และหน่วยการโอน กลับมา มีทิศทางที่ดีขึ้นเนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ชู SPALI, SIRI, SC, LH, PSH และ QH

          ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ หรือ REIC เปิดเผยว่า จากภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ที่ได้รับผลกระทบ อย่างหนักจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไทย (GDP) ลดลง 6.1% เป็นการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 22 ปี ภาพรวมดังกล่าวส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยจากการจัดเก็บข้อมูลตลอดปีที่ผ่านมาพบการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการปรับตัวของผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

          ขณะที่การเพิ่มขึ้นของอุปทานใหม่เข้าสู่ตลาดปรับลดลงจากการลดจำนวนการเปิดโครงการใหม่ เพื่อให้ที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างรอการขายออกไปจากระบบ ทั้งนี้คาดการณ์ปี 2564 จะมีสินค้าใหม่เข้ามาเพิ่มมากขึ้นทดแทนสินค้าเดิมที่ถูกขายออกไป ทั้งนี้คาดว่าในปีนี้จะมีการเปิดตัวใหม่ จำนวน 82,594 หน่วย เพิ่มขึ้น 32.7% จากปีก่อนและคาดว่าผู้ประกอบการยังจะลงทุนในบ้านจัดสรรมากกว่าอาคารชุดในสัดส่วน 57.4% ต่อ 42.6%

          เปิดตัวบ้านจัดสรรเพิ่มขึ้น

          โดยคาดว่าบ้านจัดสรรเปิดตัวใหม่ในปี 2564 นี้จะเพิ่มขึ้น 22.5% จากปีก่อน หรือมีจำนวนประมาณ 43,732 หน่วย ขณะที่อาคารชุดเปิดใหม่ คาดจะเพิ่มขึ้น 46.5% เพิ่มขึ้นจากฐานที่ต่ำมากในปีก่อน หรือจำนวนหน่วยประมาณ 38,862 หน่วย สำหรับสถานการณ์ด้านอุปสงค์ประเมินโดยรวมในปี 2564 ว่าจะมีหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ประมาณ 353,236 หน่วย ลดลงจากปีก่อน 1.5% ซึ่งการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยแนวราบจะลดลงเพียงเล็กน้อยหรือประมาณ 0.1% ในขณะที่อาคารชุดจะลดลง 4.2%

          ด้านมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ในปี 2564 คาดว่าจะอยู่ที่ราว 876,121 ล้านบาท ลดลง 5.6% จากปี 2563 ซึ่งโครงการแนวราบลดลง 7.7% ส่วนอาคารชุดลดลง 1.4% จากปีก่อน ขณะที่สถานการณ์สินเชื่อที่อยู่อาศัยยังคงมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยในปี 2563 มูลค่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลปล่อยใหม่ทั่วประเทศอยู่ที่ 612,084 ล้านบาท ลดลง 4.4% จากปี 2562 และคาดว่าในปี 2564 มูลค่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยอยู่ที่ประมาณ 595,141 ล้านบาท ลดลง 2.8% จากปี 2563

          กระตุ้นรัฐขยายมาตรการเพิ่ม

          ทั้งนี้ จากการกลับมาแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ระลอกใหม่กดดันให้หน่วยโอนกรรมสิทธิ์และมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ในไตรมาส 1/2564 ลดลงจากปีก่อนและทรงตัวต่อเนื่องมาถึงไตรมาส 3/2564 แต่คาดจะขยายตัว 5.8% จากปีก่อน และจะปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนถึง 5.8% ในไตรมาส 4/2564 ขณะที่มูลค่าโอนกรรมสิทธิ์จะปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 2 และ 3/2564 แต่ยังติดลบ 1.8% และ 14.6% จากปีก่อน

          อย่างไรก็ตาม หากวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ที่ภาครัฐทยอยออกมากระจายให้ประชาชนเริ่มมีผลและเป็นไปในทิศทางที่ดี เชื่อว่าจะช่วยให้ในไตรมาส 4/2564 มูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์อาจปรับตัวดีขึ้น โดยคาดว่าจะมียอดโอนสูงกว่า 250,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1.6% จากปีก่อน ขณะเดียวกันหากภาครัฐมีการทบทวนเกณฑ์มาตรการกระตุ้นอสังหาใหม่ โดยเฉพาะขยายตลาดที่พักอาศัยระดับราคา 3-5 ล้านบาท เชื่อว่าจะช่วยให้ภาคอสังหากลับมาฟื้นตัวดีขึ้น เพราะความต้องการซื้อเพื่อพักอาศัยและเพื่อการลงทุนยังมี อีกทั้งกลุ่มลูกค้าระดับราคาดังกล่าวเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ

          เรามองว่าอสังหาปีนี้ที่ยังคงไปได้ต่อคือกลุ่มแนวราบ ส่วนอาคารชุดยังมีแนวโน้มชะลอตัวจากปีก่อน ซึ่งต้องยอมรับว่าจากมาตรการภาครัฐที่เอื้อต่ออสังหามีส่วนเข้ามาช่วย แต่หากว่าภาครัฐสามารถขยายระดับราคาเป็น 3-5 ล้านบาทได้ เชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นให้มูลค่าการโอนและหน่วยการโอนจะกลับมามีทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อโดยเฉพาะเพื่อการลงทุน ซึ่งก็อยากให้ภาครัฐนั้นพิจารณาเกณฑ์อีกครั้ง" ดร.วิชัย กล่าว

          จากปัจจัยข้างต้นที่กล่าวมาทำให้มองว่าจะส่งอานิสงส์เชิงบวกต่อผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะโครงการแนวราบ อาทิ SPALI, SIRI, SC, LH, PSH และ QH
 
ข่าว reic จากสื่อสิ่งพิมพ์ อื่นๆ