THAILAND Vision 2021
Loading

THAILAND Vision 2021

วันที่ : 12 มีนาคม 2564
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เผย วัคซีนโควิด สร้างความเชื่อมั่นทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2564 มีทิศทางที่ดีขึ้น
          ประเทศไทยเป็นหนึ่งในนานาประเทศทั่วโลก ที่ต้องเผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 นับตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นมา ซึ่งไม่เพียงส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพของประชากรโลกให้เกิดการเจ็บป่วยและล้มตายนับล้านคนแล้ว ยังสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจและการพังทลายของธุรกิจในแทบทุกระดับ อันเนื่องมาจากมาตรการล็อคดาวน์ที่แต่ละประเทศต้องนำมาใช้ เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาด แม้ปัจจุบันหลายประเทศสามารถผลิตวัคซีนป้องกันCOVID-19 ได้สำเร็จ และ เริ่มนำมาฉีดให้กับประชาชนแล้วในหลายประเทศ แต่ยังเป็นที่คาดการณ์ว่าโลกคงยังต้องอยู่กับไวรัสร้ายตัวนี้อีกเป็นปี และเมื่อ สถานการณ์ทางโรคภัยไข้เจ็บเริ่มเห็นโอกาสที่สดใสขึ้นบ้าง แล้ววิสัยทัศน์ใหม่ ประเทศไทยในปี 2564 หรือ Thailand Vision 2021 ควรที่จะเป็นอย่างไร?

          ใช้นวัตกรรม-งานวิจัย-แหล่งทุน-คำนึงสิ่งแวดล้อม

          วิสัยทัศน์ใหม่ ประเทศไทย 2564 ผู้สะท้อนมุมมองคนแรก "รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช" อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่าจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ภาคธุรกิจ SME ต้องประสบปัญหาล้มไปจำนวนมาก แต่สิ่งที่ประสบปัญหามากกว่าภาคท่องเที่ยวคือค้าส่ง-ค้าปลีกจนทำให้เกิดผลกระทบมาก จีดีพีติดลบ แต่คาดว่าในปีนี้จะกลับมาเป็นบวกไม่เกิน 3% ถือว่าต่ำสุดในภูมิภาคอาเซียน ด้านหนี้ ภาคครัวเรือนสูงมากเฉลี่ยหนึ่งครัวเรือนเป็นหนี้ประมาณ 50,000 บาท ซึ่งในภาวะเช่นปัจจุบันรายได้ที่ได้รับจะไม่สามารถครอบคลุมหนี้ได้ แต่การที่มองว่าภาคเศรษฐกิจจะดีขึ้นนั้นเป็นเพราะความมั่นใจในการมีวัคซีน

          ขณะเดียวกันภาคการค้ากับต่างประเทศนั้น โดยเฉพาะนโยบายด้านเศรษฐกิจของนายโจ ไบเดน ที่จะกลับมาให้ความ สำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะเป็นหนึ่งในนโยบายการหาเสียง โดยเฉพาะสิ่งที่น่าจับตาคือการปล่อยก๊าซคาร์บอน ไดออกไซด์ (CO2) ของผลิตภัณฑ์สินค้าต่างๆ ที่ต่อไปผู้ประกอบการที่ส่งสินค้าไปขาย อาจจะต้องถูกบังคับให้ติดสติ๊กเกอร์ปริมาณการปล่อย CO2 หรือหากมีมาตรการที่เข้มงวดอาจถึงขั้นจัดเก็บภาษีคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งอาจจะเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าได้ประการหนึ่ง

          ส่วนด้านการค้านั้นผู้ประกอบการ จำเป็นต้องปรับตัวรูปแบบการค้าให้เป็นทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องย้อนกลับมาพิจารณาตัวเอง คือเรื่องผลิตภัณฑ์ หรือจุดเด่นของสินค้าที่ต้องมีการออกแบบการดีไซน์ใหม่ สินค้าต้องมีคุณภาพ มาตรฐาน และการนำนวัตกรรมเข้ามาช่วย ซึ่งนวัตกรรมในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการลงทุนด้านเครื่องจักรใหม่ แต่เป็น "นวัตกรรมเท่ากับความแตกต่าง" คือความแตกต่างจากคู่แข่ง มีการสร้างเรื่องราวของสินค้า จนทำให้สินค้าของตนเองมีความ Smart

          หากมองในแง่ภาวะเศรษฐกิจจะฟื้นหรือไม่นั้น รศ.ดร.อัทธ์ กล่าวว่า ในปีนี้แง่จิตวิทยา ประชาชนมีความมั่นใจมากขึ้นเมื่อ มีการเริ่มฉีดวัคซีนให้ประชาชนแล้ว สิ่งที่จะต้องดำเนินการต่อไปคือในแง่กำลังซื้อที่เหลืออยู่จะขับเคลื่อนการบริโภค การลงทุน การส่งออกไปอย่างไร ค่าใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งในแต่ละภาคส่วนต้องไปพิจารณาในแต่ละส่วน แต่ทั้งนี้ไทยควรจะต้อง "เซ็ตซีโร่โครงสร้างภาคผลิต" โดยเฉพาะภาคการเกษตรที่เกษตรกรยังคง พบกับปัญหาเดิมคือ ต้นทุนการผลิตสูงจนเสียเปรียบคู่แข่ง ศักยภาพการผลิตต่ำ จึงต้องให้ความสำคัญกับการทำนวัตกรรมเกษตร 4.0 มีการดีไซน์บวกการออกแบบ ผลักดันให้เกิดการทำอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ด้วยการนำงานวิจัย R&D เข้ามาช่วย โดยเฉพาะเทรนด์โลกที่ต่อไปจะต้องให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม การลดละทิ้งของเสีย การลดปัญหาคนกลาง และอีกสิ่งหนึ่งที่จะทำให้ประเทศไทยขับเคลื่อนไปได้และภาครัฐควรจะต้องทำคือ การทำให้ SME เข้าถึงแหล่งเงินทุนให้ได้ ซึ่งปัจจุบันแม้จะมีแหล่งเงินทุน แต่ยังคงต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่ง หลักทรัพย์ส่วนใหญ่อยู่กับสถาบันการเงิน นอกจากนี้การที่จะให้บริษัทขนาดใหญ่เข้ามาช่วยค้ำประกันด้วยนั้นคงไม่สามารถปฏิบัติกันได้ จึงทำให้ SME ไทย ยังเข้าไม่ถึงแหล่งทุน

          ดันเงินทุนสู่SMEรายย่อย-ปฏิรูปกฎระเบียบ

          มาฟังภาคการเงินจาก "ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์" ผู้ตรวจการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ที่ระบุว่าท่ามกลางสถานการณ์โควิด- 19 นั้นการที่มีวัคซีนแล้วเท่ากับเป็นการสร้างความเชื่อมั่นมีความหวัง ทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2564 มีทิศทางที่ดีขึ้น แม้ว่าปีนี้ ยังคงมีความเสี่ยง แต่จีดีพีอาจจะกลับมาเป็นบวกราว 2.8-2.9% เศรษฐกิจยังพอที่จะขยายตัวได้บ้างและจะดีขึ้นเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นในปี 2565 ส่วนด้านอัตราดอกเบี้ยยังคงต่ำ เพื่อต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเศรษฐกิจจำเป็นต้องพิจารณาถึงกลไกทาง การเงิน 3 ปัจจัย คือเงินฝาก สินเชื่อ ตราสารหนี้และตลาดทุน ซึ่งในระบบมีเงินฝากมากกว่าการปล่อยสินเชื่อ ถือว่าสภาพคล่องของเงินในตลาดมีจำนวนมาก ขณะที่หุ้นกู้ผู้ประกอบการนำมาใช้มาก จนทำให้เงินทุนไหลเข้าตลาดทุนมากขึ้นและในปี 2563 มีมูลค่าตลาดทุนเพิ่มจาก 12 ล้านล้านบาทไปเป็น 16 ล้าน ล้านบาท เมื่อดอกเบี้ยต่ำคนจึงหันมาลงทุนในตราสารหนี้ที่ถือ ว่าเป็นเซฟโซน

          ขณะที่ด้านสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ต้องนำมาพิจารณาด้วยนั้น จะพบว่าสินเชื่อส่วนใหญ่ยังคงจำกัดอยู่ในกทม. และปีนี้มีแนวโน้ม ลดลงกว่าเดิมเพราะผู้ที่มีแผน หรือมีเงินสำหรับการซื้อบ้านลดลง คนขาดความเชื่อมั่นต่อการซื้อที่อยู่อาศัย ผู้ที่ซื้อเพื่อการลงทุนและต่างชาติหายไปจากตลาด แต่ถ้ามีวัคซีนแล้วอาจทำให้มีความมั่นใจเพิ่มขึ้น ขณะที่ธปท. มีการควบคุมด้าน LTV ทำให้การซื้อบ้านหลังที่สองลดลงไปด้วย

          สำหรับประเทศไทยนั้นนับว่ามีแผนต่างๆ ที่ดี แต่ในแนวทางปฏิบัติอาจประสบปัญหาอยู่บ้าง ซึ่งในภาคการเงินคนมีเงินมองการลงทุนน้อย ตัวเลขการลงทุนจึงติดลบ เพราะ SME ไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้อีกต่อไป และภาคการเงินทำอย่างไรที่จะทำให้เม็ดเงินลงสู่ผู้ประกอบการรายย่อย รัฐบาลควรเป็นคนกลางในการ กระจายเงินลงทุนสู่รายย่อยจะช่วยสร้างชาติได้มาก และเมื่อสภาพคล่องในปัจจุบันค่อนข้างล้นคนที่ยังขาดแคลนด้านการเงินยังมีอยู่ จึงควรเป็นหน้าที่ของรัฐ นอกจากนี้เรื่องกฎระเบียบในทางปฏิบัติต้องมีการปฏิรูปใหม่ เพราะการทำงานหลายๆ หน่วยงานในเรื่องเดียวกัน ก็ต้องมีความสอดคล้องกันเป็นไปทางเดียวกัน

          สร้างความเชื่อมั่นทุ่มฉีดวัคซีนเร่งสร้างงาน

          มาถึงภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นหนึ่งในดัชนีชี้การลงทุนของประเทศ "นายอธิป พีชานนท์" กรรมการบริหารและประธานคณะกรรมการ สมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในวันนี้ผู้ซื้อบ้านยังไม่ค่อยมั่นใจ เพราะคนซื้อต้องผูกกับเศรษฐกิจในอนาคตด้วย และหากเศรษฐกิจและโควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย กำลังซื้อก็จะลดลงเรื่อยๆ แต่หากคนที่มีความพร้อม มีโอกาสจะมีความได้เปรียบมาก ซึ่งในปี 2563 นับว่าเป็นปีที่หนักมากทั้งยอดขาย การรับรู้รายได้การโอนกรรมสิทธิ์ลดลงอย่างรุนแรง โดยเฉพาะตลาดคอนโดมิเนียม ซึ่งคาดว่าช่วงครึ่งปีหลังน่าที่จะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น เพราะกลุ่มผู้ซื้อคงเหลือแต่กลุ่มผู้อยู่อาศัยเองเป็นหลัก ส่วนกลุ่มลงทุนให้เช่า เก็งกำไรและต่างชาติหดหายไป นอกจากนี้แล้วในปีนี้ตลาดบ้านแนวราบมีสูงขึ้นกว่าคอนโดมิเนียม ที่ยังคงมีสต๊อกเหลืออยู่จำนวนมาก จึงทำให้ต้องเปิดตัวโครงการน้อยลง ด้านต้นทุนของผู้ประกอบการช่วงนี้จะยังไม่เปลี่ยนแปลงมาก แต่อาจทำให้ช่วงครึ่งปีหลังนี้มีการปรับราคาขึ้นได้ เพราะสินค้าในสต๊อกเริ่มหมดลง

          ขณะเดียวกันธปท.มีความกังวล จึงมีมาตรการคุมสินเชื่อผู้ประกอบการด้วย โดยมีเงื่อนไขในการปล่อยคือการมียอดพรีเซล 50-60% จึงจะปล่อยทำให้ผู้ประกอบการหันไปใช้การออกหุ้นกู้ แทน ซึ่งในอนาคตอาจทำให้ตลาดหุ้นกู้ไม่ได้รับความไว้วางใจ เพราะมีหุ้นกู้ตลอดชีพซึ่งส่งผลต่อผู้ซื้อว่าจะได้รับเงินคืนเมื่อใดเมื่อไม่มีกำหนดอายุ และอีกสิ่งหนึ่งคือผู้ประกอบการจำเป็นต้องดูแลสถานะการเงินของบริษัทให้เพียงพอในระยะ 2 ปีเป็นอย่างน้อย นอกจากนี้ก็ต้องมีการปรับการดีไซน์ ออกแบบให้ตอบรับกับความต้องการของลูกค้า มีการบริหารจัดการที่ตรงประเด็นผสมผสานรูปแบบการตลาด ทั้งออฟไลน์และออนไลน์และที่สำคัญคือการเตรียมแผนสำหรับการถอยด้วยเช่นกัน

          ส่วนสิ่งที่ภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลดำเนินการ คือ การทุ่มงบ ประมาณด้านวัคซีน เพื่อให้ประชาชนได้ฉีดครบ 100% โดยเร็ว เพราะมีผลต่อความเชื่อมั่นด้านจิตใจ ต้องสร้างงาน สร้างรายได้ หางานอย่าให้มีคนตกงาน เสริมกำลังซื้อภายในประเทศ เร่งรัดโครงการสาธารณูปโภค การใช้จ่ายของรัฐ ลดอุปสรรคด้านกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ สร้างแรงจูงใจดึงดูดการลงทุน สร้างแรงจูงใจทางมาตรการภาษี ส่วนได้มาตรการการเงินคือ การคุมค่าเงินบาทให้อ่อน คุมอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำ คุมเงินเฟ้อไม่ต่ำหรือไม่สูงเกินไป และให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น ส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ ควรเริ่มทำการตลาดด้านท่องเที่ยวกับต่างชาติล่วงหน้า ดูแลบรรยากาศทางการเมือง สร้างความมั่นคงทางการแพทย์ทั้งอุปกรณ์ เครื่องมือ ยา วัคซีน บุคลากรทางการแพทย์ และที่สำคัญธนาคารแห่งประเทศไทยควรเปลี่ยนจากดูแลแค่เสถียรภาพมาร่วมดูแลเรื่องการเติบโตของเศรษฐกิจ

          ปรับสู่ KOL เน้นสร้างพันธมิตรลดแข่งขัน

          ยุคสมัยนี้ไม่พูดถึงเรื่องเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ๆ ไม่ได้แล้ว มาฟัง "นายเกรียงศักดิ์ วรกุลดำรง" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีทัช จำกัด ได้กล่าวว่าผู้ประกอบการต้องเร่งปรับเปลี่ยนจากการเป็นออฟไลน์มาสู่ออนไลน์ แต่ก็จำเป็นที่จะต้องทำควบคู่กันไป โดยเห็นได้ชัดจากช่วงโควิด-19 ที่ออนไลน์ช่วยทำให้ ผู้ประกอบการมีรายได้เข้ามา โดยยอดสูงขึ้นถึง 80% จากสถิติกูเกิลปี 63 มีรายได้จาก 5 Billion US เป็น 9 Billion US ที่ผ่านมาทางบริษัทจะดูแลให้คำปรึกษากับผู้ประกอบการที่จะนำ สินค้าไปสู่ตลาดโลก ส่วนใหญ่จึงให้คำปรึกษากับผู้ประกอบการ รายใหญ่ แต่ช่วงที่ผ่านมาหลังเกิดวิกฤติทำให้ต้องหันมาพิจารณาถึงผู้ประกอบการรายเล็กลงมา และต้องหันมามองตลาดในประเทศมากขึ้น

          ในปี 2564 นี้โลกออนไลน์จะมีความลำบากมากขึ้น เพราะทั้ง IOS, Apple, Facebook มีปัญหากัน ทำให้การโพสต์ขายสินค้ามียอดขายลดลง ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเทรนด์ใหม่ที่เกิดขึ้นคือ KOL หรือการที่ผู้ประกอบการเจ้าของสินค้าต้องออกมาทำเองมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องใช้เซเลบริตี้ หรือดารามาเป็นผู้รีวิวสินค้าอีกต่อไป และจะเห็นเทรนด์นี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องรู้จักสินค้าตนเองเป็นอย่างดี และต้องสามารถบริหารต้นทุนให้ดี จึงเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการต้องปรับmindset ตัวเอง และทำทุกฟังก์ชั่นด้วยตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งพาใคร

          แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ การที่ผู้ประกอบการควรเป็นพันธมิตรซึ่งกันและกัน ใครเชี่ยวชาญด้านใดก็มาจับมือร่วมมือกันทำงาน ไม่ควรที่จะแข่งขันกันถึงขั้นดั๊มราคาขายกันเอง และแพลทฟอร์มใดที่ประเทศไทยสามารถพัฒนาได้เอง เป็นสินค้าของไทยก็ควรปกป้องและต่อยอดให้สามารถไปต่างประเทศได้
ข่าว reic จากสื่อสิ่งพิมพ์ อื่นๆ