โควิด ล็อก โควตาดีมานด์ต่างชาติ ลุ้นปี64 หน่วย-มูลค่า โอนฯรอพลิกฟื้น
Loading

โควิด ล็อก โควตาดีมานด์ต่างชาติ ลุ้นปี64 หน่วย-มูลค่า โอนฯรอพลิกฟื้น

วันที่ : 9 เมษายน 2564
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เผย วิฤกต โควิด-19 กระทบโควต้าต่างชาติ ปี 63 หน่วยโอนฯห้องชุดลดฮวบ
          ศูนย์ข้อมูลฯ ระบุยอดโอนฯสะสมห้องชุดคนต่างชาติช่วง 3 ปี (2561-63) มูลค่ากว่า 115,177 ลบ. ดูดซัปพลายคอนโดฯไปแล้ว 34,651 หน่วย เผยโควิด-19 กระทบโควต้าต่างชาติ ปี 63 หน่วยโอนฯห้องชุดลดฮวบ -35.5% มูลค่า -25.5% แต่ก็พอมีสัญญาณบวกหลังโควิดคลี่คลาย เผยผู้ประกอบการปรับกลยุทธ์ เบนเข็มเจาะกำลังซื้อคนไทยชดเชยดีมานด์ต่างชาติ ชาวจีนมาแรงอันดับหนึ่ง กำลังซื้อหลักโอนฯสูงสุด จับตา!เปิดประเทศ หนุน อสังหาฯ คึกคัก

          ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ รายงานสถานการณ์การโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติ ทั่วประเทศ ระบุในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา (2561-2563) ตลาดอาคารชุดที่ขายให้กับคนต่างชาติ มีมูลค่ากว่า 115,177 ล้านบาท มีจำนวน 34,651 หน่วย สำหรับในปี 2563 ที่ผ่านมา พบว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม 2563 ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อตลาดอาคารชุดที่ขายให้กับคนต่างชาติ เนื่องจากได้มีการล็อกดาวน์การเดินทางเข้า-ออกประเทศ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติ ทำให้ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2563 เป็นช่วงที่มีการเคลื่อนไหวในส่วนของการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดเพียง 1,162 หน่วย โดยลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ร้อยละ -61.1 และมีมูลค่าลดลงเหลือ 5,073 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์อยู่ที่ 11,108 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ -54.3

          ต่อมา ในไตรมาสที่ 3-4 สถานการณ์การโอนกรรมสิทธิ์ของคนต่างชาติเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น โดยเป็นผลมาจากความพยายามแก้ปัญหาของผู้ประกอบการ เพื่อช่วยให้ผู้ซื้อชาวต่างชาติ สามารถทำการรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดที่สร้างเสร็จพร้อมโอนได้ โดยเพิ่มเป็น 1,885 หน่วย มูลค่ารวม 9,381 ล้านบาทในไตรมาส 3 และจำนวน 2,592 หน่วย มูลค่ารวม 12,730 ล้านบาท ในไตรมาสสุดท้าย ส่งผลให้ทั้งปี 2563 มีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 8,285 หน่วย (12,798 หน่วย) มูลค่า 37,716 ล้านบาท (50,610 ล้านบาท) โดยจำนวนหน่วยต่ำกว่าปี 62 ร้อยละ -35.3 และมูลค่าลดลงร้อยละ -25.5

          ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า หากเปรียบเทียบจำนวนการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติ เทียบกับคนไทย พบว่า ในปี 2561 คนต่างชาติเคยมีสัดส่วนการโอนกรมมสิทธิ์คิดเป็นร้อยละ 10.1 ของจำนวนหน่วยทั้งหมด และมีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16.3 ของมูลค่าทั้งหมด ต่อมาในปี 2562 มีสัดส่วนลดลงเหลือร้อยละ 9.9 ของจำนวนหน่วยทั้งหมด และร้อยละ 15.5 ของมูลค่าทั้งหมด และมีสัดส่วนต่ำสุด เหลือเพียงร้อยละ 6.8 ของจำนวนหน่วยทั้งหมด และร้อยละ 12.1 ของมูลค่าทั้งหมดในปี 2563

          ระดับราคาห้องชุดที่คนต่างชาติมีการโอนกรรมสิทธิ์มากที่สุด เฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง (ปี 2561-2563) ส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับราคา 3.01-5.00 ล้านบาท และราคา 2.01-3 ล้านบาท โดยทั้งสองระดับราคาจะมีสัดส่วนจำนวนหน่วยใกล้เคียงกันคือร้อยละ 23.2 และร้อยละ 23.0 ตามลำดับ แต่เมื่อพิจารณาด้านมูลค่าการโอน พบว่า ห้องชุดระดับราคามากกว่า 10 ล้านบาท จะมีสัดส่วนมูลค่าสูงสุดถึงร้อยละ 28.5 ต่างชาติโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดในพื้นที่กรุงเทพฯมากกว่าครึ่ง

          จังหวัดที่มีจำนวนการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติมากที่สุดในปี 2563 ใน10 ลำดับแรก ซึ่งมีสัดส่วนจำนวนหน่วยรวมกันมากถึงร้อยละ 99.7 และมีสัดส่วนมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์รวมกันมากถึงร้อยละ 99.8 ส่วนที่เหลืออีก 20 จังหวัดมีสัดส่วนจำนวนหน่วยเพียงร้อยละ 0.3 และสัดส่วนมูลค่ารวมกันร้อยละ 0.2

          อันดับแรก คือ กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีสัดส่วนจำนวนหน่วยมากถึงร้อยละ 57.1 และมีสัดส่วนมูลค่าการโอนมากถึงร้อยละ 73.5 เกินกว่าครึ่งหนึ่งของการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติทั่วประเทศ

          สัญชาติของคนต่างชาติที่ซื้อและรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดมากที่สุด 10 อันดับแรก ในปี 2563 เปรียบเทียบกับปี 2562 ซึ่งสัญชาติของคนต่างชาติของทั้งสองปี มีรายชื่อ 10 ประเทศที่เหมือนกัน โดยอันดับ 1 เป็นชาวจีน ที่โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดมากที่สุด โดยในปี 2562 มีสัดส่วนการโอนร้อยละ 59.6 ของจำนวนหน่วย และเพิ่มสัดส่วนเป็นร้อยละ 63.4 ในปี 2563 แต่มูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ลดลงเมื่อเทียบกับปี 62 แต่สัดส่วนยังสูง เนื่องจากมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ของแต่ละประเทศลดลงเช่นกัน ทำให้ค่าเฉลี่ยชาวจีนมีสัดส่วนสูง

          อนึ่ง รัฐบาลได้กำหนดช่วงเดือนกรกฎาคม 64 จะเริ่มมีการเปิดประเทศมากขึ้น หลังจากในหลายประเทศตั้งแต่ไตรมาสแรกที่ผ่านมา เริ่มมีการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนภายในประเทศ แต่ในสถานการณ์การระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 คงต้องดูท่าทีของรัฐบาล จะยังคงยึดตามกรอบในการเปิดประเทศหรือไม่ อย่างไร
ข่าว reic จากสื่อสิ่งพิมพ์ อื่นๆ