อสังหาฯอีอีซีกำลังซื้อแผ่วหืดขึ้นคอเคราะห์ซ้ำ!เหล็กขึ้นราคา-วอนแบงก์รัฐปล่อยกู้
Loading

อสังหาฯอีอีซีกำลังซื้อแผ่วหืดขึ้นคอเคราะห์ซ้ำ!เหล็กขึ้นราคา-วอนแบงก์รัฐปล่อยกู้

วันที่ : 25 พฤษภาคม 2564
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ชี้ อสังหาอีอีซี เหนื่อยหนัก ยอดค้างสต๊อก2.21แสนล้านบ.
         ศูนย์ข้อมูลฯประเมิน ตลาดอสังหาฯโซนอีอีซีอัตราดูดซัปฯ ยังทรงๆ ตัว จังหวัดชลบุรี พี่ใหญ่ หน่วยเหลือขายยังอยู่ในปริมาณที่มาก ขณะที่ 3 นายกสมาคมอสังหาฯ อีอีซี พร้อม "เวลคัม" ผู้ประกอบการจากนอกพื้นที่ หรือรายใหญ่เข้ามาพัฒนาความเจริญ แต่ยอมรับ อสังหาฯหืดขึ้นคอ จุดขาย อีอีซี ยังมองไม่เห็นชัดเจน กระทุ้งซ้ำ ปลดล็อก LTV

          ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจธนาคารและรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (ธอส.) กล่าวถึงสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยภาคตะวันออก (จังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา) ว่า เป็น 3 จังหวัดยุทธศาสตร์คลัสเตอร์ของที่อยู่อาศัยค่อนข้างมาก โดยมีหน่วยที่เปิดใหม่ในครึ่งหลังปี 2563 ประมาณ 8,586 หน่วย เทียบเท่ากับ 16.5% ของที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ มีมูลค่าในการเปิดซัปพลายใหม่ถึง 30,000 ล้านบาท ขณะที่ซัปพลายใน 26 จังหวัดอยู่ใน 3 จังหวัดประมาณ 75,362 หน่วย  มูลค่า 250,000 ล้านบาท ยอดขายที่เกิดขึ้นใน 26 จังหวัดที่ทางศูนย์ข้อมูลสำรวจ อยู่ในจังหวัดชลบุรีประมาณ 10,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% อัตราดูดซัปฯ ทั้งโครงการบ้านจัดสรรและคอนโดฯ ต่อเดือนอยู่ที่ 2.3% สินค้าบ้านจัดสรรมีอัตราดูดซัปที่ดี อยู่ที่ 2.8% ต่อเดือน

          "โครงการบ้านจัดสรรในจังหวัดชลบุรี กระจายไปในหลายกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์ที่เติบโตดีกว่าคอนโดมิเนียม ซึ่งจะเห็นได้ว่า สองโปรดักส์ดังกล่าวจะเป็นสินค้าที่เกิดขึ้นมากในครึ่งหลังของปี ที่ผ่านมา"

          สำหรับภาพรวมตลาดในปี 2564 คาดว่า หน่วยการออกใบอนุญาตก่อสร้างปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 24,580 หน่วย มีหน่วยเปิดใหม่ 9,348 หน่วย หน่วยขายได้ใหม่ 12,495 หน่วย ลดลง -11.7% อัตราดูดซัปฯ ทั้งแนวราบและแนวสูง ยังอยู่ในระดับทรงๆตัว หน่วยเหลือขายคาดว่าในชลบุรีจะมีประมาณ 45,245 หน่วย เพิ่มขึ้น 6.6% หน่วยโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น 18.3%

          ขณะที่ในด้านของนายกสมาคมอสังหาฯ ใน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา กล่าวอย่างชัดเจนว่า ทางสมาคมฯพร้อมต้อนรับผู้ประกอบการจากส่วนกลางหรือที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์เข้า แต่ปัจจุบันตลาดอสังหาฯในโซนอีอีซี หืดขึ้นคอ

          นายมีศักดิ์ ชุนหรักษ์โชติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไลฟ แอนด์ ลีฟวิ่ง จำกัด ในฐานะนายสมาคมอสังหาริมทรัพย์ชลบุรี กล่าวติดตลกว่า "อย่าเข้ามาเลยครับ เจ้าถิ่นดุ ซึ่งที่ผ่านมา เราจะเห็นว่า มีผู้ประกอบการรายใหญ่ที่เข้ามาทำโครงการในอีอีซี แต่ก็ได้กลับไปแล้ว แต่ถ้าจะเข้ามา ผู้ประกอบการต้องมองให้ขาด เรื่อง ดีไซน์ ทำเล ราคา เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาจากกระแสอีอีซี ฟีเวอร์ ทำให้ราคาที่ดินพุ่ง ขณะที่จุดขาย อีอีซี ยังมองไม่เห็นชัดเจน พร้อมมองว่า ตอนนี้ อสังหาฯเจอทั้งโควิด เหล็กขึ้นราคาและไม่มีแนวโน้มจะลง และหากมองว่า อสังหาฯปี 65 จะดีขึ้น ต้องมาดูว่า ดีจากอะไร จะได้รับอานิสงส์จากการท่องเที่ยวหรือไม่ เพราะเรายังไม่รู้เลยว่า โควิด-19 จะจบเมื่อไหร่" นาย มีศักดิ์กล่าว

          นายเปรมสรณ์ ศรีวิบูลย์ชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท วีพี เรียล เอสเตท พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ในฐานะนายกสมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์ระยอง กล่าวว่า จากสถานการณ์ โควิด-19 ยิ่งทำให้ธนาคารพาณิชย์มีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมาก โดยเฉพาะธนาคารของรัฐ เช่น ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ที่อนุมัติยาก ส่งผลให้ยอดปฏิเสธสินเชื่อเพิ่มสูงขึ้น และเห็นว่า รัฐบาลควรที่จะหันมาปลดล็อกเรื่องมาตรควบคุมสินเชื่อหรือ LTV เพราะหากทำได้ น่าจะช่วยกระตุ้นตลาด และยังทำให้ลูกค้าต่างชาติมีโอกาสในการซื้อที่อยู่อาศัยมากขึ้น

          "เรื่องของการแข่งขัน เราไม่เคยกลัว ใครจะเข้ามา แต่อย่ามาตัดราคาหรือทำให้ราคาเสีย ซึ่งที่ผ่านมา ด้วยกระแสอีอีซี ราคาเพิ่มขึ้นไปไม่น้อยกว่า 200 เปอร์เซ็นต์ สิ่งที่รายใหม่หรือรายใหญ่จะเข้ามา ต้องมองเรื่องของทำเล ต้องดูให้ดี ไม่ใช่ถูกรับน้องในการซื้อที่ดินที่ติดกับวัด หรือบ่อขยะ เป็นต้น"

          นายวัชระ ปิ่นเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วัชราดล จำกัด ในฐานะนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ด้วยโครงสร้าง ที่ผ่านมา จังหวัดฉะเชิงเทรา ไม่ได้ถูกพัฒนาหรือกำหนดให้กลายเป็นเมืองน่าอยู่ชั้นดีมาก่อน แม้แต่ระบบสาธารณูปโภคจนถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่สมบูรณ์หรือพร้อม

          อสังหาฯ ภาคเหนือซัปพลายเหลือกว่า 4 หมื่นล้าน

          ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ กล่าวเสริมถึงการสำรวจอสังหาริมทรัพย์ภาคเหนือ เน้นใน 4 จังหวัด (เชียงใหม่, เชียงราย, พิษณุโลกและตาก) พบว่า ในครึ่งหลังของปี 63 มีซัปพลายที่อยู่อาศัยใหม่เข้าสู่ตลาด 2,100 ยูนิต คิดเป็น 4.2% ของซัปพลายใหม่ที่เข้าสู่ตลาดทั่วประเทศ ขณะที่ซัปพลายสะสมมีจำนวน 18,500 ยูนิต คิดเป็น 5% ของซัปพลายที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ โดยในครึ่งหลังของปี 63 มีอัตราการ ระบายออกอยู่ที่ 2,000 ยูนิต ส่งผลให้ ณ สิ้นปี 63 มีซัปพลายเหลือขายสะสมอยู่ที่ 16,000 ยูนิต มูลค่าเหลือขาย 40,000 ล้านบาท

          นางอัญชนา วัลลิภากร ประธานบริหารบริษัท บาเนีย (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงผลกระทบจากโควิด-19 ว่า ผู้ประกอบการจะต้องให้ความสำคัญกับการติดตามพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับกลุ่มที่อยู่อาศัยประเภทเช่าเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากสะดวกต่อการย้ายพื้นที่การทำงาน ทำให้แนวโน้มความต้องการที่อยู่อาศัยแบบเช่ามีความต้องการมากขึ้นหรือเข้ามาแทนที่คอนโดฯในอนาคต

          นายสรนันท์ เศรษฐี นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์เชียงใหม่ กล่าวว่า การออกแบบที่อยู่อาศัยใหม่ๆ จะต้องมองในเรื่อง 1. เทรนด์การซื้อเพื่อลงทุน 2. เทรนด์สุขภาพ 3. เทรนด์กรีนลิฟวิ่ง และ 4. เทรนด์เวิร์กฟอรมโฮม.
ข่าว reic จากสื่อสิ่งพิมพ์ อื่นๆ