ย้อนรอย 7 ปี เชื่อมั่นอสังหาฯดิ่ง แอลทีวี&โควิด ซ้ำเติมตลาดซบ
Loading

ย้อนรอย 7 ปี เชื่อมั่นอสังหาฯดิ่ง แอลทีวี&โควิด ซ้ำเติมตลาดซบ

วันที่ : 4 มิถุนายน 2564
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ชี้ LTV - โควิด ฉุด ดัชนีความเชื่อมั่น ผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย ลดลงต่อเนื่อง
         จากดัชนีความเชื่อมั่นอสังหาริมทรัพย์รอบ 7 ปีของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ พบว่า ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน ดัชนีความเชื่อมั่น ผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย ลดลงต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นดัชนีความเชื่อมั่น ในภาวะปัจจุบัน (Current Situation Index) ผู้ประกอบการกลุ่ม Listed Companies และกลุ่ม Non-listed Companies ต่ำกว่าค่ากลางอย่างชัดเจน

          วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคาร และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า ตลาดอสังหาฯ หลังปี 2557 ที่เกิดรัฐประหาร "รัฐบาล ยิ่งลักษณ์" ยังมีการขยายตัวต่อเนื่อง เมื่อปัญหาความขัดแย้งและความเสี่ยงทางการเมืองลดลง ทำให้ผู้บริโภครู้สึกมั่นใจในการใช้ชีวิตและธุรกิจดำเนินต่อไปได้ แต่ช่วง ปี 2558-2559 เกิดภาวะตกต่ำของธุรกิจอสังหาฯ ทำให้รัฐบาลต้องออกมาตรการต่างๆ มาช่วยกระตุ้นกระทั่งปี  2561 ตลาดฟื้นตัวขึ้น ชัดเจนมีการเปิดตัวโครงการใหม่จำนวนมาก ทำให้การโอนกรรมสิทธิ์จาก 375,035 หน่วยในปี 2558 ขยับเป็น 391,964 หน่วย ในปี 2562 มูลค่า เพิ่มขึ้นจาก 750,017 ล้านบาท เป็น 930,751 ล้านบาท

          "จากปี 2561 จนถึงปัจจุบัน แต่ละปีมีการโอนกรรมสิทธิ์กว่า 9 แสนล้านบาท สะท้อนว่า  อสังหาฯ ประเทศไทยหลังปี 2557 มีการขยายตัวชัดเจน แต่เมื่อประกาศใช้มาตรการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย (แอลทีวี) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในปี2562 และเผชิญวิกฤติโควิด-19 ในปี 2563 ทำให้ตลาดอสังหาฯ เติบโตได้ไม่เต็มที่ เพราะกลุ่มคนซื้อส่วนหนึ่งหายไป จากตลาด สอดคล้องกันกับตัวเลขการขาย ลดลง"

          วิชัย มองว่า หากไม่มี ปัจจัยเรื่อง แอลทีวีและวิกฤติโควิด ตัวเลข 622,265 ล้านบาท ในปี 2561 ที่มีการขายได้ทั่วประเทศ 26 จังหวัด สูงสุดตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมาจะพัฒนา มากขึ้นทุกปี  เพราะยังมีดีมานด์ในตลาดต่อเนื่อง

          ทว่าในปี 2561 โครงการที่ออกมาใหม่นั้นมีจำนวนมากจนเกิดภาวะซัพพลาย ล้นตลาด!!! เนื่องจากผู้ประกอบการอสังหาฯ ไม่ระมัดระวังในการเปิดตัวโครงการ มองแต่โอกาส แม้ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ จะพยายามส่งสัญญาณเตือนก่อนหน้านั้น เมื่อเกิดเหตุการณ์คาดไม่ถึง คือ มาตรการ แอลทีวี ตามมาด้วยโควิด ทำให้เกิดโอเวอร์ซัพพลาย

          เห็นได้จากหน่วยเหลือขายในปี 2561 มีจำนวน 263,027 หน่วยมูลค่า 1,064,333 ล้านบาท  ปี 2562 มี 301,000 หน่วย มูลค่า 1,214,351 ปี 2563 หน่วยเหลือขาย "ลดลง" อยู่ที่ 298,191 หน่วย แต่มูลค่าเพิ่มขึ้นมาเป็น 1,351,534 ล้านบาท เพราะบ้านราคาสูงขึ้น

          อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการฟื้นตัวของตลาดอสังหาฯ สอดคล้องกับที่ นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าสถานการณ์ โควิดจบ หรือควบคุมสถานการณ์ได้ ในเดือนก.ค.- ส.ค. เช่นเดียวกับศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ ประเมินว่าไตรมาส 4 ตลาดอสังหาฯ จะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น และมีความมั่นคง ปี 2565 มี โอกาส เติบโตต่อเนื่อง จากภาคการท่องเที่ยวจะกลับมา กระตุ้นความรู้สึกและความต้องการซื้อทรัพย์สินของชาวต่างชาติ รวมทั้งดีมานด์ที่อยู่อาศัยในประเทศไทยจะทยอยกลับมา

          "ตลาดอสังหาฯ ยังไม่อิ่มตัว แต่บางเซ็กเมนต์ผู้ประกอบการสร้างมากเกินไป โดยเฉพาะบ้านราคาแพง เริ่มมีสต็อกจำนวนมาก ตรงข้ามกับ ที่อยู่อาศัยของคนชั้นกลางหรือกลุ่มบ้านราคาถูกยังเป็นโอกาสในการพัฒนา แต่ขณะนี้อาจมีความเสี่ยง กู้ยาก ดังนั้น ถ้าทำให้ตลาดฟื้น ต้องทำให้ปัจจัยพื้นฐาน ซึ่งก็คือเรื่องรายได้ และความมั่นคงของ รายได้ของรายได้ประชาชนกลับคืน มาก่อน"

          ขณะเดียวกันภาครัฐต้องสร้างความเชื่อมั่น ให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ ในการเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจ หลังจากดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอสังหาฯ ลดลง อย่างต่อเนื่องและบางช่วงต่ำกว่า ค่ากลางหมายความว่า มีมุมมองเชิงลบต่อสถานการณ์ธุรกิจนั่นเอง

          ตลาดอสังหาฯ ยังไม่อิ่มตัวบางเซ็กเมนต์สร้างมากเกินไป บ้านราคาแพงเริ่มมีสต็อกมากบ้านระดับกลาง-ราคาถูก ยังเป็นโอกาสในการพัฒนา แต่ขณะนี้อาจมีความเสี่ยง กู้ยาก