ศูนย์ข้อมูลฯ Review อสังหาฯปี64 ใหม่ คาดตัวเลขหลุดใกล้กรอบ Worst Case
Loading

ศูนย์ข้อมูลฯ Review อสังหาฯปี64 ใหม่ คาดตัวเลขหลุดใกล้กรอบ Worst Case

วันที่ : 15 กรกฎาคม 2564
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เตรียมทบทวน (Review) และปรับมุมมองต่อภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ในปี 2564 ใหม่
         ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคาร และรักษาการผู้อำนวยการ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หน่วยงานกลางจัดเก็บข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ของประเทศ เปิดเผยว่า การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่รุนแรงและขยายเป็นวงกว้างมากขึ้น ทางศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์เตรียมทบทวน (Review) และปรับมุมมองต่อภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ในปี 2564 ใหม่ เนื่องจากเกิดปัจจัยแทรกซ้อน เข้ามากระทบต่อตลาดอสังหาฯ อย่างชัดเจนในช่วงที่เริ่มเข้าสู่ต้นไตรมาส 3 ของปี 2564 (ก.ค.-ก.ย.)

          เริ่มจากการปิดแคมป์คนงานก่อสร้างชั่วคราว 1 เดือน (มีผลตั้งแต่ 28 มิ.ย.64) เพื่อควบคุมการ เกิดคลัสเตอร์โควิดจากแคมป์คนงานก่อสร้าง ตามข้อมูลของศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ ณ สิ้นปี 2563 มีบ้านจัดสรรและคอนโดฯในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลที่ขายแล้วและอยู่ระหว่างก่อสร้างรวม 51,153 หน่วยมูลค่ารวมกัน 274,716 ล้านบาท ซึ่งบางส่วนก่อสร้างแล้วเสร็จและโอนให้ลูกค้าไปแล้ว แต่ยังมีอีกจำนวนมากที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและต้องส่งมอบในปีนี้ และล่าสุด ประกาศ "ล็อกดาวน์ 14 วัน" มาตรการบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมานี้

          "ตัวเลขสำคัญต่างๆ ของภาคอสังหาฯ มีแนวโน้มน่าจะปรับตัวลงต่ำกว่ากรณี Base Case ที่เคยคาดการณ์ไว้ เนื่องจากสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลงแต่คาดว่า จะไม่น่าจะหลุดเกินกรณี Worst Case (เลวร้ายสุด) ซึ่งทางศูนย์ข้อมูลฯ กำลังประเมินตัวเลขและภายในเดือนสิงหาคมจะเปิดตัวเลขที่ รีวิว ตลาดอสังหาฯปี 64 ใหม่"

          ตามข้อมูลของภาคอสังหาฯปี64 บ่งชี้ว่า ตลาดในกรุงเทพฯ-ปริมณฑลอยู่ในภาวะชะลอตัวลงต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา  คาดว่าหน่วยเปิดขายใหม่รวมอาคารชุด และบ้านจัดสรร ในปี 2564 ของกรณีฐาน Base Case ที่ประมาณไว้ที่จำนวน 62,592 หน่วย ลดลง-5.5% เป็นมูลค่า 323,600 ล้านบาท ลดลง -3.1%

          แต่การวิเคราะห์และประเมินใหม่ จะลดลงแต่ไปในกรอบที่ไม่ต่ำกว่า Worst Case ที่หน่วยเปิดใหม่ 56,333 หน่วย (ซัปพลายหายไป 6,259 หน่วย) ลดลง -14.9% เป็นมูลค่า 291,242 ล้านบาท (มูลค่าหายไป 32,358 ล้านบาท)ลดลง -12.8% ทั้งนี้ การติดลบเป็นผลจากการที่โครงการอาคารชุด มีการเปิดตัวลดลงอย่างมาก

          สำหรับยอดขาย ก็จะลดลงจาก Base Case ที่มีจำนวน 69,996 หน่วย สมมติฐานเดิมเพิ่มขึ้น 4% ส่วนมูลค่าประมาณ 312,000 ล้านบาท ลดลง -4.3% จะลดลงแต่ไม่เกิน Worst Case ที่มียอดขายลดลงเหลือ 62,996 หน่วย ลดลง -6.4% เป็นมูลค่า 294,500 ล้านบาท ลดลง -9.1% ทั้งนี้ การติดลบเป็นผลจากยอดขายของอาคารชุดที่ลดลงสต๊อกเหลือขายเพิ่มขึ้นรวม 1.83 แสนหน่วยยอดโอนลด -13.6%

          การที่หน่วยเปิดตัวใหม่และยอดขายที่ลดลง ทำให้หน่วยเหลือขายสะสม ณ สิ้นปี 64 น่าจะเหลือไม่เกินกว่ากรณี Worst Case ที่ 183,511 หน่วย เพิ่มขึ้น 4.2 % โดยมีมูลค่าประมาณ 935,906 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.9 %

          และมีหน่วยโอนกรรมสิทธิ์รวม ประมาณ 169,844 หน่วย ลดลงไม่เกิน กว่า-13.6% และมีมูลค่าโอนประมาณ 544,320 ล้านบาท ลดลงไม่เกินกว่า -11.3% ในกรณี Worst Case