โควิดฉุดตลาดที่อยู่อาศัยร่วงREICประเมินปี 68กลับสู่ภาวะปกติ
Loading

โควิดฉุดตลาดที่อยู่อาศัยร่วงREICประเมินปี 68กลับสู่ภาวะปกติ

วันที่ : 18 สิงหาคม 2564
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เผย คาดการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ด้านที่อยู่อาศัยจะกลับเข้าสู่ภาวะที่ก่อนเกิด COVID-19 ในราวปี 2568-2570 หรือประมาณ 5-6 ปีข้างหน้า
          นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคาร สงเคราะห์ (ธอส.) และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เปิดเผยว่า ช่วงไตรมาส 2 ปี 2564 ประเทศไทยยังประสบกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งค่อนข้างรุนแรง มากขึ้นส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ถดถอยและยังไม่มีความชัดเจนถึงการฟื้นตัวภายใน ปี 2564 ศูนย์ข้อมูลฯได้เฝ้าสังเกตการณ์ตลาดที่อยู่อาศัย มาอย่างต่อเนื่อง พบว่าความกังวลต่อการควบคุมการ แพร่ระบาดของ COVID-19 มีผลโดยตรงต่อการลงทุนพัฒนาโครงการใหม่ การขยายตัวของสินเชื่อ ที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ และการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย

          ภาพรวมของทั้งประเทศ รวมถึงภาพรวมของ 29 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม และภาพรวมของพื้นที่ กรุงเทพฯ-ปริมณฑล พบว่าการเพิ่มขึ้นของอุปทานใหม่ ลดลงอย่างมากและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยในส่วน ของหน่วยที่ได้รับอนุญาตจัดสรรทั่วประเทศ ปี 2564 ยังคงชะลอตัว เพื่อรอ COVID-19 คลี่คลาย โดยครึ่งแรกปี 2564 หน่วยที่ได้อนุญาตจัดสรรลดลง ต่อเนื่องจากปี 2563 และแนวโน้มลดต่อเนื่องในไตรมาส 3 แต่กระเตื้องขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปี 2564

          โดยในช่วงครึ่งแรกปี 2564 ในพื้นที่กรุงเทพฯ- ปริมณฑล มีโครงการเปิดตัวใหม่สะสม 12,740 หน่วย มูลค่า 66,123 ล้านบาท ขณะที่ช่วงเดียวกันของปี 2563 มีโครงการเปิดตัวใหม่ 29,816 หน่วย มูลค่า 137,068 ล้านบาท ในส่วนของจำนวนหน่วย -57.3% และในส่วนของมูลค่า -51.8% ขณะที่ค่าเฉลี่ย 5 ปี จะมีจำนวนหน่วยของการเปิดตัวโครงการใหม่ไตรมาสละ 25,018 หน่วย

          ในด้านอุปสงค์การ ชะลอตัวของเศรษฐกิจ โดยรวมส่งผลกระทบจาก ยอดขายที่ลดลงในปี 2562-2563 สะท้อน ผ่านการโอนกรรมสิทธิ์ในช่วงครึ่งแรกปี 2564 โดยการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศสะสมครึ่งแรกปี 2564 มีทั้งสิ้น 120,023 หน่วย มูลค่า 377,520 ล้านบาท ขณะที่ช่วงเดียวกันของปี 2563 มีทั้งสิ้น 168,625 หน่วย มูลค่า 422,870 ล้านบาท จำนวนหน่วยปรับตัวลดลง 28.8% มูลค่าลดลง 10.7% ซึ่งมีค่าเฉลี่ยจำนวนหน่วยต่อไตรมาส 90,233 หน่วย และมูลค่า 232,859 ล้านบาท

          ด้านข้อมูลสินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ ทั่วประเทศช่วงครึ่งแรกปี 2564 มีจำนวน 294,959 ล้านบาท และมีจำนวนสินเชื่อที่อยู่อาศัยคงค้าง ทั่วประเทศ 4,376,788 ล้านบาท ขณะที่ช่วงเดียวกันของปี 2563 มี 280,037 ล้านบาท และมีจำนวน สินเชื่อที่อยู่อาศัยคงค้างทั่วประเทศ 4.098,805 ล้านบาท

          ศูนย์ข้อมูลฯคาดการณ์ภาพรวมสินเชื่อที่อยู่ อาศัยบุคคลปล่อยใหม่ทั่วประเทศปี 2564 จะมีมูลค่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยประมาณ 586,040 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 4.3% และมีจำนวนสินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลคงค้างทั่วประเทศประมาณ 4,523,597 ล้านบาท จะเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6.1%

          ทั้งนี้ REIC ได้ปรับการคาดการณ์ใหม่อีกครั้ง ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดครั้งใหม่ โดยประมาณการว่าปี 2564 ภาพรวมการออกใบอนุญาตจัดสรรปี 2564 คาดว่าจะลดลง 22.1% และจะเพิ่มขึ้นในปี 2565 ประมาณ 25.2% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นจากฐานปี 2564 ที่มีตัวเลขต่ำ และการจัดสรรจะเข้าสู่ ค่าเฉลี่ยของช่วงปกติในปี 2568

          แนวโน้มที่โครงการเปิดตัวใหม่จะลดลงมาอยู่ที่ 43,051 หน่วย ลดลงจากปีก่อนหน้า 35.0% เป็นการลดลงของโครงการอาคารชุดมากถึง 44.3% ขณะที่บ้านจัดสรรลดลง 27.4% ทั้งนี้ภาพรวมจะเพิ่มขึ้น ในปี 2565 ถึง 38.5% (เนื่องจากฐานต่ำ) และการเปิดตัวหน่วยที่อยู่อาศัยใหม่จะเข้าสู่ค่าเฉลี่ยของช่วงปกติในปี 2568-2569

          ขณะที่หน่วยโอนกรรมสิทธิ์ปี 2564 อาจเหลือเพียง 270,151 หน่วย ลดลงจากปี 2563 ที่เคยมีหน่วยโอนฯ 358,496 หน่วย หรือลดลง 24.6% (ห่างจากค่าเฉลี่ย -25.2%)คาดว่าจะดีขึ้นในปี 2565 และกลับเข้าสู่ค่าเฉลี่ยในภาวะปกติได้ในปี 2570

          ตามที่ได้กล่าวข้างต้น REIC มีมุมมองว่า ตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2564 จะยังคงลดลงต่อเนื่องเพื่อปรับสู่สภาวะสมดุลทั้งในด้านอุปสงค์และอุปทานมากขึ้น โดยคาดการณ์ว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ด้านที่อยู่อาศัยจะกลับเข้าสู่ภาวะที่ก่อนเกิด COVID-19 ในราวปี 2568-2570 หรือประมาณ 5-6 ปีข้างหน้า
ข่าว reic จากสื่อสิ่งพิมพ์ อื่นๆ