ธุรกิจกัดฟันเดินหน้าลงทุน ศุภวุฒิ ชี้ศก.ฟื้นยาก - NPLปะทุ
Loading

ธุรกิจกัดฟันเดินหน้าลงทุน ศุภวุฒิ ชี้ศก.ฟื้นยาก - NPLปะทุ

วันที่ : 31 พฤษภาคม 2566
ศุภาลัย เผยว่า ตอนนี้ต้องยอมรับว่าตลาดชะลอตัวนิดหน่อย ส่วนหนึ่งเพราะมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้น ทุกคนไม่ทราบว่า การจัดตั้งรัฐบาลจะเป็นอย่างไร เรียบร้อยแค่ไหน แต่ผมคิดว่าครึ่งปีหลัง ถ้าทุกอย่างชัดเจนขึ้น ไม่ว่าทางไหนก็ตาม หวังว่าจะดีขึ้น
          ธุรกิจลุ้นครึ่งปีหลัง "การเมือง" หายฝุ่นตลบ เศรษฐกิจเดินหน้าต่อ ศุภาลัย-ค่ายรถ MG ยืนยันโรดแมปลงทุนไม่เปลี่ยน มอนิเตอร์สถานการณ์ใกล้ชิด "ศุภวุฒิ สายเชื้อ" ชี้สัญญาณเศรษฐกิจยังฟ้นตัวลำบาก แบงก์ระวังปล่อยสินเชื่อ-ธุรกิจชะลอลงทุน จับตาปัญหา "หนี้เสีย" รอปะทุ เปิดตัวเลขผลประกอบการ บจ. ไตรมาสแรก "กำไรทรุด" ต้นทุนผลิตและค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ธปท.ชี้ธุรกิจมีความสามารถทำกำไร "ลดลง"

          สินเชื่อแผ่ว - ธุรกิจไม่ลงทุน

          ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวในงานอภิปราย "ปัญหาเศรษฐกิจที่รอรัฐบาลใหม่" ว่า เศรษฐกิจไทยตอนนี้ มีคำถามว่าฟี้นตัวดีแล้วหรือยัง เพราะหากดูข้อมูลระบบธนาคารพาณิชย์จะพบว่า ในไตรมาส 1/2566 แบงก์มีความระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ และ ผู้ประกอบการภาคธุรกิจเองก็ไม่อยากลงทุน ทำให้สินเชื่อทั้งระบบขยายตัวเพียง 0.6% รวมถึงประเด็นที่บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (NCB) ออกมาเตือนว่า มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในระบบราว 9 แสนล้านบาท และมีหนี้ส่อจะชำระดอกเบี้ยไม่ไหวอีก 6 แสนล้านบาท รวมกันสูงถึง 1.5 ล้านล้านบาท

          "สะท้อนว่าปัจจัยพื้นฐาน ยังมีลมพัด ให้การฟี้นตัวยากลำบาก และมองไปข้างหน้าหากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรง เพื่อให้เศรษฐกิจชะลอตัว หรือถดถอย และเศรษฐกิจจีนเริ่มฟี้นตัวช้าและไม่ดีมาก กระทบภาคส่งออกที่มีสัดส่วนสูงถึง 58.7% ต่อจีดีพี"

          EXIM เตือนครึ่งปีหลังหนี้เสียพุ่ง

          ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจครึ่งปีหลังค่อนข้างไม่ค่อยดี โดยเฉพาะปัญหาหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) จะน่ากังวล เพราะที่ผ่านมาการที่เอ็นพีแอลไม่เพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากมีมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูแลอยู่ แต่หลังจากนี้อาจจะเห็นเอ็นพีแอลพุ่งสูงขึ้น ขณะที่ในส่วนของผู้ประกอบการส่งออก ถ้าไม่ใช่รายใหญ่ก็ค่อนข้างลำบาก เพราะการค้าโลกอยู่ในทิศทางชะลอตัว

          ไตรมาสแรก บจ.กำไรทรุด

          ขณะที่ นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า บริษัทจดทะเบียน (บจ.) จำนวน 786 บริษัท คิดเป็น 99.5% จากทั้งหมด 790 บริษัท (SET และ mai ) พบว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2566 ของบริษัทจดทะเบียนใน SET มียอดขาย 4.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.6% ต้นทุนการผลิต 3.32 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.3% กำไรจากการดำเนินงานหลัก 410,246 ล้านบาท ลดลง 17.3% และกำไรสุทธิ 261,116 ล้านบาท ลดลง 6.2%

          ขณะที่หนี้สินต่อทุน หรือ D/E ratio (ไม่รวมอุตสาหกรรมการเงิน) อยู่ที่ระดับ 1.52 เท่า ลดลงจาก 1.58 เท่า เมื่อเทียบกับสิ้นปีก่อน

          "การเปิดประเทศทำให้เศรษฐกิจ ฟี้นตัวต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อธุรกิจ อาหาร การบริการ การขนส่ง การท่องเที่ยว และการโทรคมนาคม ทั้งนี้ กลุ่ม ธนาคารและธุรกิจการเงินยังได้รับประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ด้วย อย่างไรก็ตาม การเร่งปรับตัวให้ ทันต่อการกลับมาของธุรกิจทำให้ ผู้ประกอบการมีต้นทุนการผลิตและ ค่าใช้จ่ายในการบริหารเพิ่มขึ้นในอัตรา เร่งกว่ายอดขาย ส่วนหนึ่งจากความผันผวนของราคาวัตถุดิบและสินค้าโภคภัณฑ์ ส่งผลให้ บจ.มีอัตรากำไรลดลง" นายแมนพงศ์กล่าว

          ค่าไฟดันต้นทุนธุรกิจพุ่ง

          นายวีระวัฒน์ วิโรจน์โภคา ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟินันเซีย ไซรัส กล่าวว่า ช่วงไตรมาส 1 ปีนี้ ภาพรวมกำไรบริษัทจดทะเบียนไทยโดนกดดันจากกำไรกลุ่มพลังงานที่ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน สาเหตุเพราะปีที่แล้วฐานสูงตามราคาน้ำมันขยับขึ้นจาก ผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครน

          ส่วนประเด็นต้นทุนการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น 7.3% ตามรายงานตลาดหลักทรัพย์ฯนั้นมองว่า หนึ่งในปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบคือการปรับขึ้นของค่าไฟฟ้า เพราะกระทบทุกเซ็กเตอร์ อย่างไรก็ดี มองแนวโน้มต้นทุนการผลิต บจ.ช่วงไตรมาส 2 และครึ่งหลังของปีนี้ คาดว่า น่าจะปรับตัวลดลงได้ ตามทิศทางเงินเฟ้อที่แผ่วลง ราคาน้ำมันไม่ขยับขึ้น รวมถึงต้นทุนก๊าซและค่าไฟฟ้าก็ทยอยปรับลงในส่วนของภาคธุรกิจ จึงมองแรงกดดันจากประเด็นนี้น่าจะลดลงได้

          ความสามารถทำกำไรลดลง

          รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงภาพรวมผลดำเนินงานธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 1 ปี 2566 พบว่า สินเชื่อขยายตัวเพียง 0.51% ชะลอลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน จากการชำระคืนหนี้ของภาครัฐ ธุรกิจขนาดใหญ่ และซอฟต์โลน โดยธุรกิจขนาดใหญ่ส่วนหนึ่งระดมทุนผ่านตราสารหนี้ ขณะที่ธนาคารพาณิชย์มีการบริหารจัดการคุณภาพหนี้และให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่องด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ ส่งผลให้ยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) ณ ไตรมาส 1/66 ลดลงมาอยู่ที่ 4.98 แสนล้านบาท คิดเป็น 2.68% ของสินเชื่อรวม อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของกลุ่มครัวเรือนเปราะบางที่รายได้ฟี้นตัวช้าและมีหนี้สูง และการฟี้นตัวของธุรกิจบางกลุ่ม

          ขณะที่ภาคธุรกิจพบว่าความสามารถในการทำกำไรปรับลดลง แต่ฐานะการเงินโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยยังต้องติดตามผลกระทบจากอุปสงค์ในตลาดโลกที่ชะลอลง และบางธุรกิจที่อ่อนไหวต่อต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ช่วงที่ผ่านมา สถาบันการเงินยังให้ความช่วยเหลือ ลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของกลุ่มเปราะบาง

          MG โรดแมปลงทุนไม่เปลี่ยน

          นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า MG ยังเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจของประเทศน่าจะฟี้นตัวในช่วงครึ่งปีหลังเป็นต้นไป ทั้งนี้ อุตสาหกรรมหลักที่ช่วยขับเคลื่อน ได้แก่ ท่องเที่ยว, รถยนต์, อิเล็กทรอนิกส์ เป็นสัดส่วนประมาณ 50% ของ GDP ซึ่งจะเห็นได้จากในปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ประเมินว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้จะอยู่ที่ 28-30 ล้านคน ขณะที่เม็ดเงินจากการลงทุนของภาคธุรกิจเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจนจากอุตสาหกรรมรถยนต์และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

          และยืนยันว่า แผนการลงทุนของ MG ยังมีอย่างต่อเนื่อง ในการเร่งการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ภายในประเทศภายในช่วงไตรมาส 2 ปี 2567 ซึ่งล่าสุด MG ได้วางศิลาฤกษ์โรงงานผลิตชิ้นส่วนรวมถึงผลิตแบตเตอรี่ มูลค่ากว่า 500 ล้านบาท ซึ่งจะก่อสร้างแล้วเสร็จในช่วงเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งถือเป็นการเตรียมความพร้อมในมิติต่าง ๆ เพื่อรองรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ

          รวมถึงการเดินหน้าสร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า 100% ในประเทศไทย MG ส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าไปแล้วกว่า 10,000 คัน โดยปัจจุบันเอ็มจีมีสถานีชาร์จเร็ว หรือ MG Super Charge แล้วกว่า 140 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของโชว์รูมเอ็มจี กว่า 100 แห่ง สถานีบริการน้ำมันบางจากกว่า 40 แห่ง และมีแผนให้ทุก 150 กิโลเมตร ในประเทศไทย มีสถานีชาร์จเร็วของเอ็มจี

          เกาะติดนโยบายรัฐบาลใหม่

          อย่างไรก็ดี นายพงษ์ศักดิ์ยอมรับว่า ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมรถยนต์มียอดจำหน่ายที่สูงขึ้นสวนทางกับสภาพทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการแข่งขันของสถาบันการเงินในการอนุมัติสินเชื่อ ส่งผล ให้หนี้ไม่มีคุณภาพเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ปีนี้ มีความเข้มงวดการอนุมัติสินเชื่อมากกว่าเดิม ขณะที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่กระทบต่อภาคธุรกิจทั้งการ stock และเงินทุนหมุนเวียนการสั่งซื้อ

          ขณะที่นโยบายปรับขึ้นค่าแรง ต้องรอดูสถานการณ์หลังจากการจัดตั้งคณะรัฐบาลเสร็จแล้ว และดูว่าการผลักดันนโยบายจะเป็นในทิศทางใด กรอบระยะเวลาการดำเนินการเป็นอย่างไร โดยภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการยังมีเวลาที่จะปรับตัว เพราะถึงอย่างไรในอนาคตค่าแรงขั้นต่ำต้องปรับขึ้น อยู่แล้ว หรืออาจจะมีรูปแบบในการปรับขึ้น โดยทยอยปรับขึ้นแบบขั้นบันได ซึ่งถือเป็นการบาลานซ์กันระหว่างแรงงานและผู้ประกอบการ ทั้งนี้ เมื่อปรับขึ้นค่าแรงแล้ว แน่นอนว่าจะส่งผล ต่อต้นทุนการผลิตในหลากหลายอุตสาหกรรม ซึ่งตรงนี้ต้องรอดูว่า ทางรัฐบาลจะมีนโยบายหรือแนวทางใดเพิ่มเติมในส่วนอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจให้สามารถเดินหน้าประเทศไทยไปด้วยกันได้อย่างไร

          นายพงษ์ศักดิ์กล่าวว่า รัฐบาลใหม่ทุกชุดมีความตั้งใจในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้ดีขึ้น ดังนั้นต้องคอยติดตามดูความชัดเจน น่าจะอีกราว ๆ หนึ่งถึงสองเดือนข้างหน้า MG เชื่อมั่นว่าจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น

          ลุ้นครึ่งปีหลังฝุ่นหายตลบ

          ด้าน นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สถานการณ์การทำธุรกิจ ในไตรมาส 2/66 มีทั้งวันหยุดยาว การเลือกตั้งทั่วไป และมีความไม่แน่นอนทางการเมือง ลูกค้าอาจชะลอการตัดสินใจใช้จ่ายบ้าง แต่แนวโน้มครึ่งปีหลัง 2566 ฝุ่นหายตลบ บรรยากาศการเมืองน่าจะดีขึ้น การทำธุรกิจก็น่าจะดีขึ้น

          "ตอนนี้ต้องยอมรับว่าตลาดชะลอตัวนิดหน่อย ส่วนหนึ่งเพราะมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้น ทุกคนไม่ทราบว่า การจัดตั้งรัฐบาลจะเป็นอย่างไร เรียบร้อยแค่ไหน แต่ผมคิดว่าครึ่งปีหลัง ถ้าทุกอย่างชัดเจนขึ้น ไม่ว่าทางไหนก็ตาม หวังว่าจะดีขึ้น เราเห็นโมเมนตัม โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ ไตรมาส 1/66 มาได้ดีกว่าที่เราคาด เพราะหมดมาตรการผ่อนปรน LTV แต่ยอดขายยังทำได้ระดับที่ยังน่าพอใจ"

          ด้านต้นทุนพลังงานและดอกเบี้ย มองว่าเป็นสิ่งที่ลูกค้ารับทราบเช่นเดียวกับ ผู้ประกอบการ จึงไม่ได้มองเป็นปัจจัยลบมากเท่าไหร่ โดยเฉพาะค่าแรงขั้นต่ำเพิ่งปรับขึ้นเมื่อ 1 ตุลาคม 2565 แน่นอนว่าถึงแม้ทำให้สินค้าที่อยู่อาศัยแพงขึ้นจริง แต่ลูกค้าก็ปรับตัวเลือกซื้อบ้านขนาดเล็กลง หรือห้องชุดไซซ์เล็กลงนิดหน่อย จึงเป็นผลกระทบในระยะสั้น และไตรมาส 2 ปีนี้ สิ่งที่ดีคือภาวะดอกเบี้ยขึ้น แต่การปล่อยสินเชื่อของแบงก์ยังดีอยู่อย่างต่อเนื่อง

          ศุภาลัยมองข้ามชอต

          นายไตรเตชะกล่าวถึงแผนลงทุนของศุภาลัยด้วยว่า ลักษณะเฉพาะของ อสังหาฯเป็นธุรกิจระยะกลาง-ยาว คอนโดมิเนียมบางโครงการที่เป็นขนาดใหญ่ ใช้เวลาพัฒนา 3-3 ปีครึ่ง ทำให้ปรับตัวได้ไม่ยากนัก เปิดขายโครงการ แต่มีปัจจัยกระทบทำให้ยอดขายไม่ดีสัก 3-6 เดือน ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร เช่น ตลาดภูเก็ตในยุคโควิด ยอดขายหายไปครึ่งหนึ่ง แต่บริษัทยังเปิดโครงการใหม่ต่อเนื่อง เพราะเชื่อมั่นว่าหลังยุคโควิด การท่องเที่ยวกลับมา ตลาดภูเก็ตฟี้น ภาพรวมของประเทศก็ลักษณะเดียวกัน

          "เพราะฉะนั้นถึงจะมีความไม่แน่นอนด้านการเมืองบ้าง ระยะสั้นดูไม่ค่อยดี แต่เราไม่ได้พูดถึง 3 เดือน 6 เดือน เราพูดถึงที่จะขายใน 3 ปีหน้า เราจึงยังเดินหน้าต่อไป แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ได้เปลี่ยนอะไร เลย ในภูเก็ต ศุภาลัยยังเปิดโครงการอยู่ แต่ก็สร้างบ้านจำนวนน้อยลง ดูสปีดการ ขายลูกค้าละเอียดขึ้น ถ้าการขายไปไม่ได้ เราก็หยุดสร้างโครงสร้างทำให้มีความยืดหยุ่นสูง ไม่ได้เปลี่ยนแผนธุรกิจแต่ในดีเทลต้องมาดูละเอียดมากขึ้น"

          ประเด็นนโยบายหาเสียงค่าแรงขั้นต่ำวันละ 450 บาท ต้องรอดูความชัดเจนว่า รัฐบาลใหม่จะทำเลยไหม กระจายช่วงเวลา หรือจะปรับขึ้น 450 บาททันทีในครั้งเดียว สำหรับศุภาลัยถึงแม้จะเซ็นสัญญาก่อสร้างไปแล้ว แต่ปกติเมื่อค่าแรงขั้นต่ำ ปรับขึ้น มีการช่วยผู้รับเหมาอยู่แล้ว

          ทั้งนี้ ศุภาลัยมีโมเดลธุรกิจบ้านแนวราบลงทุนเป็นบ้านสร้างเสร็จก่อนขายเป็นหลัก ทำให้ทราบต้นทุนว่าค่าแรงขึ้นจะแอ็บซอร์บไว้เอง หรือจำเป็นต้องเฉลี่ยให้ลูกค้าเพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ส่วนคอนโดฯยังไม่ได้มีการปรับแผนอะไร ยังบริหารจัดการบนต้นทุนค่าแรงวันละ 350 บาทเหมือนเดิม

          "ท่องเที่ยว" มองไม่เห็นปัจจัยลบ

          นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่ บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ภาพรวมครึ่งปีหลังของการบินไทยและธุรกิจการบินสำหรับปีนี้ยังมีความแข็งแรง เนื่องจากดีมานด์การเดินทางทั่วโลกยังสูงต่อเนื่อง ขณะที่ทุกสายการบินยังประสบปัญหาในด้านศักยภาพในการรองรับ นักท่องเที่ยว ซึ่งการฟี้นด้านซัพพลายในปีนี้น่าจะยังไม่เพิ่มมากนัก แต่อาจมีการเปลี่ยนแปลงในปีหน้า

          "ในมุมของภาพรวมปีนี้เราแทบมองไม่เห็นปัจจัยลบ เชื่อว่าทุกอย่างน่าจะดีขึ้น เรื่อย ๆ ยกเว้นภัยธรรมชาติที่คาดการณ์ไม่ได้ ส่วนปีหน้าค่อยมาว่ากันอีกที" นายชาย กล่าวและว่า สำหรับการบินไทยนั้นตามแผนจะเพิ่มฝูงบินอีก 11 ลำ ภายในปี 2567 โดยปีนี้รับมอบ 4 ลำ และตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2566 การบินไทยมีแผนเพิ่มความถี่เที่ยวบินสู่จีนให้เป็นวันละ 1 เที่ยวบิน ทุกเส้นทาง พร้อมเพิ่มความถี่เส้นทางสู่ญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเส้นทางฮ่องกงและเส้นทางสู่ยุโรป

          สอดรับกับ นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวในทิศทางเดียวกันว่า แม้ขณะนี้จะเป็นช่วงของการทยอยฟี้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว แต่ยืนยันว่าดีมานด์หรือความต้องการเดินทางมาเที่ยวประเทศไทยยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน จะมีปัญหาก็คือในฝั่งซัพพลายและศักยภาพในการรองรับเท่านั้น

          กรีนบัสขยายลงทุนขนส่ง

          นายสมชาย ทองคำคูณ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กรีน แคปปิตอล จำกัด ผู้ให้บริการธุรกิจขนส่งรถโดยสารประจำทางสายเหนือ (กรีนบัส) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า คาดว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง 2566 จะเติบโตต่อเนื่อง ด้วยปัจจัยนักท่องเที่ยว จีนที่จะเดินทางมายังประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นตัวกระตุ้นการท่องเที่ยว ที่สำคัญ ขณะที่ต้นทุนด้านพลังงาน โดยเฉพาะราคาน้ำมันซึ่งเป็นต้นทุนหลักของกรีนบัสปรับลดลง 20% จากราคาขายปลีกน้ำมันที่ปรับลด ส่วนต้นทุนค่าไฟฟ้าในส่วนของสำนักงานที่เพิ่มขึ้น บริษัทเตรียมแก้ปัญหาด้วยการเปลี่ยนมาใช้ระบบโซลาร์รูฟทั้งระบบ ที่จะช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าลงได้ระดับหนึ่ง

          สำหรับรัฐบาลใหม่ ไม่ว่าจะเป็นพรรคก้าวไกล หรือพรรคเพื่อไทย เข้ามาบริหาร ส่วนตัวก็มีความเชื่อมั่นในรัฐบาลชุดใหม่จะสามารถนำพาเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้ ซึ่งบริษัทจะยังคงเดินหน้าแผนขยายการลงทุนที่วางไว้ในปีนี้ อาทิ การเพิ่มเซ็กเมนต์ธุรกิจขนส่ง ได้แก่ 1.การเจาะตลาดขนส่งพนักงานในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จังหวัดลำพูน 2.บริการรถเช่า ตลาดการเดินทางเป็นหมู่คณะเพื่อการท่องเที่ยว ทัศนศึกษา 3.ธุรกิจ "old care service" บริการดูแลและรับส่งผู้สูงอายุไปโรงพยาบาล บริการพาท่องเที่ยว ช็อปปิ้ง พาไปเดินเล่น รับประทานอาหาร 4.ธุรกิจ hop-on hop-off โดยใช้รถบัสบริการนำเที่ยวซิตี้ทัวร์ ซึ่งทั้งหมดจะทยอยให้บริการภายในปีนี้เป็นต้นไป