ปัญหาเรื้อรัง! 'LTV-รีเจกต์เรต-หนี้ครัวเรือน' ฉุดอสังหาฯเสี่ยงติดลบ ชงตั้ง 'มอร์ทเกจ ฟันด์' ค้ำกู้ซื้อบ้าน
Loading

ปัญหาเรื้อรัง! 'LTV-รีเจกต์เรต-หนี้ครัวเรือน' ฉุดอสังหาฯเสี่ยงติดลบ ชงตั้ง 'มอร์ทเกจ ฟันด์' ค้ำกู้ซื้อบ้าน

วันที่ : 30 พฤษภาคม 2567
ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เรามองอสังหาฯไตรมาสแรก ก็ค่อนข้างตกใจ ซึ่งปัจจัยเป็นผลมาจากเรื่องงบประมาณฯ ยังไม่มีการเบิกจ่าย ยังไม่ได้ลงไป แต่เชื่อมั่นว่า ไตรมาสสอง และสาม อสังหาฯน่าจะปรับตัว
         ภาพรวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในไตรมาสแรกปี 2567 ต้องถือว่าเป็นไตรมาสที่น่าผิดหวัง และน่าเป็นกังวลมาก ซึ่งมีหลายปัจจัยลบ ที่เข้ามาบั่นทอนให้ตลาดรวม และผลการดำเนินงานของบริษัทมหาชน ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ (ซึ่งยังไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการอสังหาริมทรัพย์) โดยทั้งหมด 39 บมจ. อสังหาฯ รายได้ และกำไรไตรมาสแรก ปี 67 ลดลง 3.55% และ 37.20% ตามลำดับ โดยรายได้รวมทั้ง 39 บริษัท อสังหาฯ มีมูลค่ารวม 71,094.20 ล้านบาท และกำไรสุทธิที่ 5,462.47 ล้านบาท ลดลง 3.55% และ 37.20% ตามลำดับ

         ทั้งนี้ประเด็น "หนี้ครัวเรือน" ที่อยู่ในระดับที่เกินกว่า 90% เป็นอุปสรรคใหญ่ที่ทำให้ภาคสถาบันการเงิน ต้องระมัดระวังในการพิจารณาและอนุมัติสินเชื่อให้กับผู้ซื้อ รวมถึงความเข้มข้น เกี่ยวกับ มาตรการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย "Loan to value : LTV" ส่งผลกระทบถึงกลุ่มผู้ซื้อที่มีความจำเป็นมีบ้านหลังที่สอง ซึ่งในปัจจุบันเรื่องเก็งกำไรในอสังหาฯไม่มีแล้ว

         คลังลุ้นคาดปี 67 รีดภาษีที่ดินฯใกล้ 43,000 ลบ.

         นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ "ครบ 5 ปีภาษีที่ดิน:อนาคตอสังหาฯและเศรษฐกิจไทย" ว่าภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นเซกเตอร์ใหญ่ต่อเศรษฐกิจมาก และเมื่อการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2567 ยังไม่สามารถขับเคลื่อนออกมาได้ รัฐบาลจึงดำเนินนโยบายผ่านมาตรการอสังหาฯเพื่อกระตุ้นภาคเศรษฐกิจ เชื่อมั่นสต๊อกที่อยู่อาศัยที่มีอยู่ได้ระบายออกไปได้พอสมควร และจะมีการลงทุนใหม่ๆ เข้ามา

         "เรามองอสังหาฯไตรมาสแรก ก็ค่อนข้างตกใจ ซึ่งปัจจัยเป็นผลมาจากเรื่องงบประมาณฯ ยังไม่มีการเบิกจ่าย ยังไม่ได้ลงไป แต่เชื่อมั่นว่า ไตรมาสสอง และสาม อสังหาฯน่าจะปรับตัว" ปลัดกระทรวงการคลังกล่าว

         สำหรับการบังคับใช้การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ใช้อัตราจัดเก็บมาครบ 5 ปีแล้วนั้น นายลวรณ กล่าวว่า ตามกฎหมาย ก็ต้องมีการทบทวนใหม่ ดูว่าโปรแกรมภาษีที่ดิน จะมีการปรับปรุงหรือไม่ อย่างไร โดยกระทรวงการคลังกำลัง ดำเนินการอยู่ และในมุมของกระทรวงการคลัง การจะออกภาษีอะไรออกมา ก็ยุ่งยากพอควร

         "ในอดีตเศรษฐีสะสมความมั่งคั่งด้วยการเก็บที่ดิน ตอนนั้นไม่มีการเก็บภาษีของการยึดครอง และมีการส่งต่อไปยังลูกหลานแต่ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ก็จะเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้คนที่มีที่ดิน ก็เปลี่ยนผ่านที่ดินออกไปสู่ข้างนอก วันนี้การเก็บภาษีที่ดินฯจะถูกส่งผ่านไปยังท้องถิ่น ท้องถิ่นใช้ความสามารถ และความ ขยันในการเก็บ เพื่อบำรุงท้องถิ่น สร้างถนน ดูแลสิ่งแวดล้อม ณ วันนั้น การประเมินของกระทรวงการคลัง เราอยากได้อัตราตัวเลขที่ใกล้เคียงกับภาษีโรงเรือนที่จัดเก็บได้ประมาณ 40,000 ล้านบาท (บวกลบ) ซึ่งในช่วงปี 2562 ที่เริ่มบังคับใช้ภาษีฯ เจอ โควิด ทำให้ต้องลดอัตราจัดเก็บเหลือร้อยละ 10 และกลับมาเก็บร้อยละ 100 ในปี 2565 ในปีนั้นสามารถจัดเก็บภาษีได้ 35,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับเมื่อเทียบปี 62 ที่ 32,000 ล้านบาท ส่วนในปี 67 จะทำได้ 43,000 ล้านบาทหรือไม่

         "กระทรวงการคลังคาดหวังจากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คือ 1. วันนี้ท้องถิ่นจะมีความแข็งแรง มีอิสระในการหารายได้ และเก็บภาษีของตนเอง เพื่อนำไปใช้จ่ายของตนเอง 2. การปรับปรุงจากกฎหมายเดิม วันนี้ครบ 5 ปี การใช้ภาษีที่ดินฯ ผ่านมา กระท่อนกระแท่น และเรามีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งครบ 45 วันแล้ว มีผู้มีเสนอข้อคิดเห็น 500 ราย คาดว่าจะปลายปีจะแล้วเสร็จ เรามองว่าเป็นภาษีที่ดินฯดี แต่ก็ต้องมีการปรับให้เข้ากับสถานการณ์"

         เอกชน ถกรัฐปลดล็อกปัญหาเรื้อรังภาคอสังหาฯ

         นายอธิป พีชานนท์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวถึง "โจทย์ใหญ่!!อสังหาริมทรัพย์ไทยฟื้นอย่างไร ให้ยั่งยืน" ว่ามาตรการกระตุ้นภาคอสังหาฯของรัฐบาลจะเข้ามาช่วยกระตุ้นได้ แต่กระตุกไม่มากนัก เนื่องจากมีปัญหาสะสม เช่นเรื่องการอนุมัติสินเชื่อ การขอสินเชื่อยาก ส่งผลให้ตัวเลขการปฏิเสธสินเชื่อสูงขึ้น และเรื่องมาตรการ LTV ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังกังวลเรื่องการเก็งกำไร ยืนยันไม่มีเก็งกำไรมาหลายปีแล้ว ใครจะไปเก็งกำไร ถ้ามี ก็เป็นคนผิดปกติ และตรงนี้ น่าจะมีการผ่อนคลายเกณฑ์ LTV ได้แล้ว

         นอกจากนี้ ยังเป็นเรื่องกำลังซื้อได้รับผลกระทบ เศรษฐกิจไม่ฟื้นตัวเต็มที่ รายได้ไม่ฟื้นตัว เป็นพื้นฐานขั้นต้น และก่อนนี้หวังว่าคนต่างชาติเข้ามาซื้อคอนโดมิเนียม แต่ต่างชาติหายไปเพราะเจอโควิดและตอนนี้ลูกค้าต่างชาติ หรือบริษัทตัวแทนขาย (เอเยนซี) โดยเฉพาะจีนกลับมีปัญหาไม่เหมือนเดิม ไม่ตื่นตัวเท่าที่ควร จากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว โดยผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจคาดปีนี้มีโอกาสที่ตลาดภาคอสังหาฯจะลดลง -10% แต่มีโอกาสที่อสังหาฯจะเติบโตได้ ถ้ารัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจ และมีการใช้จ่ายเงินอีก 3 ไตรมาส จะทำให้อสังหาฯฟื้นกลับมาได้เป็นบวกประมาณ 5%

         สำหรับประเภทคอนโดฯ คาดปีนี้ยอดขายและยอดโอนฯยังคงจะติดลบ ส่วนบ้านจัดสรร ช่วงที่เกิดโควิด ปรากฏว่าขายดีมากดีกว่าสินค้าประเภทอื่น แต่ปีกว่าที่ผ่านมาตลาดบ้านจัดสรรเริ่มจะมีผลกระทบ เป็นผลมาจากต้นทุนที่สูงขึ้น ราคาที่ดินไม่ได้ลดลง ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ไม่ได้กระตุ้นให้คนปล่อยที่ดินออกมาค่าก่อสร้างสูงขึ้น โดยเรามองว่า ค่าแรงที่ปรับขึ้นเป็น 400 บาท ก็มีผลกระทบ ทำให้ราคาบ้านราคาแพงขึ้น

         "ส่วนปัจจัยบวก รัฐบาลได้กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการ อสังหาฯ เป็นเรื่องดี มีการขยายเพดานราคาบ้านจาก 3 ล้านบาท ไปครอบคลุมในราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท กระจายกลุ่มมากขึ้น เรามองว่างบประมาณรัฐที่จะออกมา จะกระตุ้นเศรษฐกิจ และยังมีเขตเศรษฐกิจพิเศษตามหัวเมืองต่างๆ ก็ช่วยให้ดีขึ้น และเราอยากให้รัฐบาลมาให้ความสำคัญกับ EEC เพื่อกระตุ้นการลงทุนจากต่างประเทศ โดยรัฐบาลน่าจะเร่งโครงการขนาดใหญ่ให้คนมีกำลังซื้อมากขึ้น แต่ก็ยังเป็นห่วงเรื่อง ขาดแรงงานไร้ฝีมือ ขอกระทรวงแรงงานให้ความสำคัญในเรื่องนี้"

         ชง 3 มาตรการเสนอรัฐ ตั้งกองทุนฯ-ลดพื้นที่บ้าน- ปรับเกณฑ์ภาษีที่ดิน

         "อสังหาฯปีนี้ เติบโตแบบเปราะบาง คนไม่อยากมีภาระผูกพันระยะยาว อัตราดอกเบี้ยก็ไม่แน่ใจว่าจะลดลงหรือไม่ แต่ถ้าลดลงก็มีผลดีต่อเงินผ่อนชำระลดลงทั้งผู้ซื้อใหม่และผู้ซื้อเก่า ถ้าลดร้อยละ 0.25 ก็ช่วยให้ดอกเบี้ยลดลงได้ 2% หวังว่าปีนี้ น่าจะมีการลดดอกเบี้ยร้อยละ 0.25-0.50 ตอนนี้ เราหวังจีน แต่กำลังซื้อมาจากเมียนมา และรัสเซีย ที่หนีมาอยู่บ้านเราเยอะ และเศรษฐกิจใน หัวเมืองต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงที่มากขึ้น" นายอธิปกล่าว

         นอกจากนี้ ได้เสนอรัฐบาล 3 เรื่อง ได้แก่ แนวทางแรก การจัดตั้ง มอร์ทเกจ ฟันด์ คล้ายที่ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันให้กับธุรกิจเอสเอ็มอี แต่อันนี้ค้ำประกันคนขอกู้บ้าน ถ้ามีกองทุนสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย หรือมอร์ทเกจ ฟันด์ จะช่วยให้คนมีรายได้น้อยได้มีที่อยู่อาศัย โดยรัฐต้องตั้งกองทุนค้ำประกัน อาจค้ำประกัน 20-30% ให้ธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐสบายใจ รวมถึงต้องการให้รัฐบาลจัดตั้ง มอร์ทเกจ อินชัวร์รันซ์ ใช้กับคนทุกระดับไม่ใช่แค่รายได้น้อย

         2. ปัจจุบันราคาที่อยู่อาศัยปรับขึ้นตลอด สวนทางกับรายได้คนที่ปรับขึ้นไม่ทันราคาบ้าน ซึ่งทางสมาคมฯได้นำเสนอการเปลี่ยนขนาดบ้านจัดสรร โดยไปแก้ไขกฎระเบียบมติคณะกรรมการจัดสรรกลาง โดยลดขนาดของบ้านจัดสรร บ้านเดี่ยว จากมาตรฐานต่ำสุด 50 ตารางวา เหลือ 40 ตารางวา ช่วยลดต้นทุนก่อสร้างได้ 20% และบ้านแฝดจาก 35 ตารางวา เหลือ 30 ตารางวา ช่วยลดต้นทุนก่อสร้าง 10% คนซื้อบ้านเบาตัว คนซื้อบ้านที่ราคาถูกลงจากแนวโน้มของราคาเงินเฟอที่อาจจะปรับขึ้น

         และ 3. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ตอนนี้กังวลมีความสับสนผู้จัดเก็บ มีการลดหย่อนยกเว้นหลายกรณี และที่รกร้างว่างเปล่ามีช่องโหว่ เกิดการตีความการใช้ประโยชน์ที่ดิน มีการประเมินเพื่อลดค่าภาษีได้ มีการเจรจาได้ ซึ่งไม่แน่ใจเก็บรายได้เข้าหลวง 100% หรือไม่

         ดังนั้น อยากให้ภาษีเป็นอัตราเดียวทั้งหมด ไม่ใช่อัตราเดียวเป็นประเภท เพราะปัจจุบันภาษีที่ดินฯ เป็นอัตราแบบขั้นบันได และราคาประเมินที่ดินเพิ่มขึ้น ถ้าเก็บอัตราเดียวทั้งหมด ก็ไม่ต้องไปประเมิน อัตราเดียวจริงจะเป็นเท่าไหร่ต้องพิจารณา ลดบุคลากร ลดความสับสน ลดทุจริต ทำให้รัฐได้เงินถูกต้อง

         "ตลาดชะลอตัว เพราะกำลังซื้อลดลง ไม่มั่นใจ กู้ซื้อบ้านยาก อุปทานส่วนเกินในตลาดมาก ก็ต้องแก้ไขตรงจุดเป้าหมาย ห่วงปี 2567 จะมีเรื่องสงครามราคาเกิดขึ้น"

         ต่างชาติมองไทย "โกลบอล พร็อพเพอร์ตี้"

         นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า อสังหาริมทรัพย์ไทย ถือเป็น โกลบอล พร็อพเพอร์ตี้ ที่ต่างชาติมองว่า ประเทศไทยมีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ดี มีโรงเรียน สิ่งอำนวยความสะดวก ผู้คนเป็นมิตร ทำให้ที่ผ่านมา 25% ของมูลค่าตลาดอสังหาฯ 1 ล้านล้านบาท เป็นต่างชาติเข้า มาซื้อ ซื้อเพื่อเป็นบ้านหลังที่สอง ซื้อเป็นบ้านตากอากาศ ทำให้ อสังหาฯของไทย ถือเป็นสินค้าโอทอประดับชาติ ซื้อแล้วนำกลับไปไม่ได้ ต้องดูแลรักษา

         "ประเทศไทยต้องทำแบบประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่ใช้ภาคอสังหาฯมาช่วยปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ถือเป็ยความหวังสุดท้ายของเศรษฐกิจไทย แต่ไตรมาสแรกที่ผ่านมากลับพบว่าตลาดมียอดขายติดลบร้อยละ 25-30 ต่ำสุดในรอบ 6 ปี เช่น ทาวน์เฮาส์ ยอดต่ำสุดในรอบ 12 ปี หลังจากน้ำท่วม ขณะที่บ้านเดี่ยวอาจจะยังอยู่ได้ เพราะมีคนจีนมาซื้อผ่านนอมินี ขณะที่ฝั่งยอดโอนฯติดลบ แดงทุกตัวเหมือนกัน ลบร้อยละ 25 ซึ่งเป็นการติดลบทั้งสองฝั่ง ทั้ง ทาวน์เฮาส์ บ้านเดี่ยว คอนโดฯ ซึ่งตนทำงานด้านนี้มานาน ไม่เคยเจอเหตุกาณ์แบบนี้มาก่อน เพราะกำลังซื้อคนไทยซื้อไม่ได้"

         อย่างไรในตลาดต่างชาติ ที่ซื้อถูกต้องตามกฎหมาย ไตรมาสแรกยังดีอยู่โต 10% ปีต่อปี แต่ยังติดลบจากไตรมาสที่แล้วลบ 21% อสังหาริมทรัพย์ไทยเป็นบ้านหลังที่สองของต่างชาติไปแล้ว ตัวเลขโอนฯต่างชาติ ปีต่อปีเติบโต 5% ในคอนโดฯ ทั้งประเทศ ซึ่งจังหวัดที่ยอดนิยม ได้แก่ กรุงเทพฯ, ชลบุรี และภูเก็ต มีดีมานด์ต่างชาติ โดยมีคนจากประเทศจีน เมียนมา และไต้หวัน เป็นกลุ่มผู้ซื้อหลัก จึงถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องจัดระเบียบตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ในเรื่อง LTV มีผลต่อยอดขายทุกครั้ง การผ่อนคลายจะทำให้ตลาดโตทุกครั้ง แต่การเข้มงวดเรื่อง LTV จะมีผลต่อตลาดโดยเฉพาะอสังหาฯรูปแบบทาวน์เฮาส์ ทำให้ LTV มีผลต่อการซื้อบ้านของคนไทย

         "มั่นใจประเทศไทย อสังหาฯจะเป็นตัวปรับโครงสร้างเศรษฐกิจได้ รองจากท่องเที่ยว ควรทำแบบสิงคโปร์ ตะวันออก กลาง ซึ่งประเทศไทยมีภูมิประเทศไทยดีกว่ามาก จึงเสนอแนะ การกระตุ้นตลาดระดับกลาง ตลาดล่างกระตุ้นไม่ขึ้นแล้ว และปรับการถือครองคอนโดฯ ชาวต่างชาติจากร้อยละ 49 เป็นร้อยละ 69 ทำกองทุนสนับสนุนการที่อยู่อาศัยผู้รายได้น้อยถึงปานกลางแห่งชาติ และใช้การพัฒนาโครงการอสังหาฯขนาดใหญ่ของไทย MAN MADE ในการสร้างศักยภาพในการแข่งขัน สร้างความน่าสนใจแรงดึงดูดทางเศรษฐกิจ กระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาวของประเทศไทยเช่น พื้นที่รัชดา ฯลฯ การใช้พื้นที่พญาไทที่มีโรงแรียนแพทย์ 6 แห่งเป็นเมดิเคิลฮับ เป็นต้น อยากให้กระทรวงการคลัง กับ ธปท. ทำงานร่วมมือกัน เพื่อกู้วิฤกตของประเทศในปัจจุบัน"

         ยากที่สุด 'แก้หนี้ครัวเรือน' เป็นหนี้ที่รอให้คนแก้เมื่อไหร่ก็ไม่ลด!

         ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนา ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า มาตรการของ บ้านบีโอไอ ช่วยคนขาย เพราะได้ขยายจากสร้างบ้านไม่เกิน 1.2 ล้านบาท (ซึ่งปัจจุบันหมดการส่งเสริมไปแล้ว) ขยับเพิ่มเป็นราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท มีจำนวนต่อโครงการไม่ต่ำกว่า 80% ตรงนี้มีแรงจูงใจจะได้รับสิทธิประโยชน์

         "มาตรการบ้านบีโอไอ อาจไม่ได้ทำให้ผู้ประกอบการได้กำไรมากขึ้น แต่ทำให้ผู้ซื้อสามารถเข้ามาถึงที่อยู่อาศัยได้ โดยที่ราคาไม่ขึ้นตามกลไกตลาด"

         ทั้งนี้ จากข้อมูลการสำรวจรายได้คนกรุงเทพฯต่ำกว่า 5 หมื่นบาท มีสัดส่วนถึง 80% และรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาท มีสัดส่วน 50% และบ้านส่วนใหญ่ราคา 1-2 ล้านบาทเป็นตลาดใหญ่ และเต็มไปด้วยคนที่ยังเข้าไม่ถึงที่อยู่อาศัย

         นอกจากนี้ ธนาคารไม่อยากปล่อยมูลค่าบ้านต่ำกว่า 3 ล้านบาท เพราะหนี้เสียเยอะ ทำให้ไม่อยากปล่อยกู้ ปัญหาใหญ่คือ ไม่มีใครแก้ได้ภายในระยะเวลาอันสั้น คือ หนี้ครัวเรือน รัฐบาลทำในสิ่งที่ทำได้ คือลดราคาสินค้า ลดค่าธรรมเนียมการโอนฯ มีแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการ และคนซื้อ ทำให้ซื้อขายด้วยราคา บ้านล้วนๆ และมาตรการผ่านแบงก์รัฐให้พิจารณาปล่อยสินเชื่อ ได้ง่ายขึ้น

         "รายได้คนกรุงเทพฯไม่เยอะ แต่หากดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1 ทำให้ราคาบ้านเพิ่ม 11% บวกราคาที่ดินเพิ่ม ต้นทุนเพิ่มแต่รายได้คนไม่เพิ่ม คงไม่สามารถใช้เวลา 1-2 ไตรมาส ในการ แก้หนี้ครัวเรือน ยอมรับว่ายาก แก้หนี้ไม่ให้เกิดมอรัลฮัดซาร์ด เราใช้เวลา 20 ปี หนี้ครัวเรือนไต่ระดับจากร้อยละ 70 เป็นร้อยละ 91 ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ซึ่งมอรัลฮัดซาร์ดเป็นความเคยตัว ที่รอความช่วยเหลือ ไม่พยายามแก้หนี้ ไม่คืนหนี้เอง เพราะจะมีคนมาช่วย เป็นเรื่องไม่ดี เรื่องหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหา ไม่สามารถกลับไปอยู่จุดเดิมได้เร็ว"

         ตลาดรับสร้างบ้าน เติบโตตามธรรมชาติ

         นายมนู ตระกูลวัฒนะกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีคอน จำกัด กล่าวว่าตลาดธุรกิจรับสร้างบ้านเป็นการเติบโตแบบออแกนิกไม่มีต่างชาติเข้ามาช่วย (ยกเว้นภรรยาคนไทยที่มีสามีเป็นชาว ต่างชาติ) ซึ่งตัวเลขยอดขายของ 2 สมาคมฯอยู่ที่ 22,000 ล้านบาทเล็กมากเมื่อเทียบกับตลาดอื่นๆ แต่ถือเป็นดีมานด์หรือความต้องการจริงๆ ที่ผ่านมาถือเป็นโจทย์ของรัฐบาล แต่ก็ยังไม่มีการพูดถึงมาตรการที่จะช่วยเหลือ ซึ่งธุรกิจรับสร้างบ้านจะรับรู้รายได้ก็ต่อเมื่อมีการเซ็นสัญญาก่อสร้างก่อน ไตรมาสแรกที่ผ่านมามีการเซ็นสัญญา 2,000 ล้าน ซึ่งใกล้เคียงกับปี 66

         "ปัจจุบัน เราควรเร่งรัดกระตุ้นให้จีดีพีของประเทศเติบโตเพราะปัจจุบันต่ำสุดในภูมิภาค งบประมาณของรัฐบาล 3.5 ล้านล้าน เหลือเวลา 4-5 เดือน ต้องเร่งผลักดันใช้จ่ายให้มีส่วนช่วยดันจีดีพีได้ ตอนนี้ตลาดสร้างบ้านราคาต่ำกว่า 2.5 ล้าน และ 2.5-5 ล้านบาท หายไปร้อยละ 30 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังไม่ดีขึ้น อยากฝากรัฐบาลเรื่องการขออนุญาตจัดสรร เนื่องจากใช้เวลาขออนุญาตนานเกิน ควรจะสามารถขออนุญาตออนไลน์ ได้ตรวจแบบออนไลน์ได้ และเรื่องแรงงานต่างด้าว ควรมีวิธีตรวจสอบได้ถูกต้องได้ เพื่อไม่ให้มีปัญหาเวลาที่เจ้าหน้าที่มาตรวจสอบ และควรดึงผู้รับเหมาก่อสร้างเข้าสู่ระบบภาษีให้ถูกต้องทั้งหมด เพื่อให้ภาครัฐจัดเก็บรายได้อย่างถูกต้องด้วย .
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาคเอกชน อื่นๆ