อสังหาลงทุนNewS-Curve ปั้นรายได้อิง 'อุตสาหกรรม'
Loading

อสังหาลงทุนNewS-Curve ปั้นรายได้อิง 'อุตสาหกรรม'

วันที่ : 21 พฤษภาคม 2568
ส่องเทรนด์อสังหาฯฝ่าด่านวิกฤตเศรษฐกิจซ้ำซาก แข่งกันสร้าง รายได้ New S-Curve ลงทุนโครงการเพื่ออุตสาหกรรม "FPT" นำโด่งพื้นที่โรงงาน-แวร์เฮาส์ 3.77 ล้าน ตร.ม. "ออริจิ้นฯ-SC" รุกทีละคืบ"MK-มั่นคงเคหะการ" แหกโค้งเบียดเข้าท็อป 3 พื้นที่ทะลุ 1 ล้าน ตร.ม. ผนึก BTS ร่วมทุนปั้นนิคมอุตฯ บางปะกง 1,000 ไร่ มูลค่า 6,500 ล้าน บางนา-ตราด กม.55
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เทรนด์การพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ของไทย กำลังยกระดับเข้าสู่โมเดลธุรกิจรูปแบบเดียวกันกับในต่างประเทศ ซึ่งนิยามการลงทุนอสังหาริมทรัพย์แตกแขนงเป็น 3 กลุ่มธุรกิจหลักด้วยกัน ได้แก่ 1.Residentail โครงการอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัย สินค้าหลักคือบ้านและคอนโดมิเนียม 2.Industrail โครงการอสังหาฯเพื่ออุตสาหกรรม สินค้าหลักมีทั้งคลังสินค้า หรือแวร์เฮาส์ และโรงงาน โดยนิยมมากที่สุดคือการสร้างโรงงานให้เช่า กับนิคมอุตสาหกรรม และ 3.Commercial โครงการอสังหาฯเพื่อการพาณิชย์ มีทั้งโรงแรม คอมมิวนิตี้มอลล์ ศูนย์การค้า ออฟฟิศบิลดิ้ง

   ขณะที่ในภาพรวม ผู้ที่ฉายภาพการลงทุนครบ 3 ด้านเป็นรายแรก คือ FPT- Frasers Property Thailand กลุ่มเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย สถิติ ณ ปัจจุบันมีพื้นที่ให้บริการเกิน 3 ล้าน ตร.ม. ครอบคลุมทั้งในไทย และอินโดนีเซีย นอกจากนี้ มีอย่างน้อยอีก 3 รายที่เห็นชัดเจน ได้แก่ ค่ายออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ ที่อยู่ระหว่างลงทุนปั้นพอร์ตรายได้เพื่อนำบริษัทลูก Spin off เข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้น ควบคู่กับค่ายเอสซี แอสเสทฯ ที่เสริมความแข็งแกร่งของพอร์ตรายได้ด้วยการบุกเบิกลงทุนสร้างรายได้จากพื้นที่เช่าอุตสาหกรรม

   โดยมีอีกรายในกลุ่มมั่นคงเคหะการ หรือ MK ซึ่งถือว่ามีความโดดเด่นเพราะมีการลงทุนทั้งในรูปแบบนักลงทุน (Investor) ที่ต่อมาผันตัวเองเป็นผู้ประกอบการ (Operator) ที่ให้บริการพื้นที่โรงงานและแวร์เฮาส์แล้ว 1 ล้าน ตร.ม. และประกาศร่วมทุนกับกลุ่ม BTS สร้างนิคมอุตสาหกรรมบางปะกง ซึ่งเป็นนิคมอุตฯแห่งแรกในเครือ มูลค่า 6,500 ล้านบาท

   FPT ทะลุ 3.77 ล้าน ตร.ม.

   นายพีระพัฒน์ ศรีสุคนธ์ กรรมการผู้จัดการ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรม บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ FPT เปิดเผยว่า ปัจจุบันบริษัทมีพื้นที่โรงงานและคลังสินค้ากว่า 3.77 ล้าน ตร.ม. กระจายอยู่ในไทย อินโดนีเซีย และเวียดนาม มีอัตราการเช่าพื้นที่เฉลี่ย 80-90% และมีแลนด์แบงก์ 5 ล้าน ตร.ม.ในไทย และอยู่ในโซนอีอีซีเป็นหลัก

   ปี 2568 บริษัทตั้งเป้ารายได้กว่า 4,000 ล้านบาท เติบโต 19% ตั้งเป้าส่งมอบพื้นที่ 150,000 ตร.ม. รวมถึงมีมูลค่าทรัพย์สินเพิ่มจาก 77,000 ล้านบาท เป็น 81,000 ล้านบาท วางแผนใช้งบฯลงทุน 3,000 ล้านบาท แบ่งเป็นลงทุนในไทย 2,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือลงทุนในอินโดนีเซียและเวียดนาม เพื่อเพิ่มพื้นที่โรงงานและคลังสินค้า 378,000 ตร.ม. รองรับดีมานด์ในแต่ละประเทศ เนื่องจากมองว่ากำแพงภาษีสหรัฐที่จะทำให้นักลงทุนหันมาเช่าคลังสินค้ามากกว่าซื้อที่ดินลงทุนก่อสร้างโรงงาน

   ขณะเดียวกัน วางแผนลงทุนเพิ่ม 1,000 ล้านบาท รองรับ 2 ดีลใหญ่ที่กำลังอยู่ระหว่างเจรจา เพื่อก่อสร้างโรงงานสำเร็จรูปขนาด 160,000 ตร.ม. หรือแห่งละ 80,000 ตร.ม. ใช้ที่ดินแห่งละ 100 ไร่ อยู่ในทำเลรอบพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งคาดว่าจะสามารถรับรู้รายได้ในปี 2569

   "กำแพงภาษีของสหรัฐถือว่ามีผลกระทบมากกว่าแผ่นดินไหว โดยเรามีผู้เช่าพื้นที่มีสินค้าส่งไปยังสหรัฐเพียง 14% จึงยังพอรับความเสี่ยงไหว ขณะนี้มีลูกค้านักลงทุนจีนบางรายชะลอการตัดสินใจออกไปบ้าง อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ต้นปี 2568 ที่ผ่านมา มีลูกค้าใหม่เข้ามาเช่าพื้นที่แล้ว 300,000 ตร.ม. ต่อสัญญาอีก 700,000 ตร.ม. รวม 6 เดือนแรกของงบการเงิน FPT (ตุลาคม 2567-มีนาคม 2568) อยู่ที่ 1 ล้านตร.ม. ถือว่ายังไม่ได้รับผลกระทบมาก"

   สูตรอสังหาฯทั่วโลก 60/40

   นายธนพล ศิริธนชัย ประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร (Country Chief Executive Officer) บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ FPT กล่าวว่า ไฮไลต์ อยู่ที่แผนธุรกิจในประเทศไทย มี Learning Curved จากเครือข่ายการลงทุนภายใต้ FPL-กลุ่มบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด ที่มีเครือข่ายลงทุนใน 20 ประเทศ 70 เมือง นำมาสู่สูตรสร้างรายได้ รีเคอริ่ง 60% กับรายได้โอนกรรมสิทธิ์ 40%

   "เราได้เรียนรู้จากเฟรเซอร์ส พร็อพ เพอร์ตี้ ทั่วโลก และเรียนรู้จากบริษัทอสังหาฯ ทั่วโลก เขาเน้นจัดพอร์ตโฟลิโอกันยังไง การบริหารสินทรัพย์ในการใช้และการสร้าง รายได้ ถ้ากลับไปดูก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะ พอร์ตรายได้รีเคอริ่งต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก และ FPT ต้องการมีสัดส่วนรายได้สินทรัพย์รีเทล ออฟฟิศ แวร์เฮาส์ถึง 60% อีก 40% เป็นรายได้สินทรัพย์ซื้อมาขายไป นี่คือสัดส่วนที่ธุรกิจทั่วโลกพรูฟมาแล้ว" นายธนพลกล่าว

    กลุ่มออริจิ้นปักหมุด "อัลฟ่าฯ"

    นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปี 2568 ออริจิ้นฯก้าวสู่ปีที่ 16 ของการก่อตั้งองค์กร และเข้าปีที่ 10 ของการเป็น บริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ปัจจุบันมี 3 บริษัทมหาชนในกลุ่มออริจิ้นฯ ได้แก่ บมจ.ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้, บมจ. บริทาเนีย และ บมจ.พรีโม่ เซอร์วิส เป้าหมาย ต่อไปวางแผนนำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อ อุตสาหกรรม จุดโฟกัสธุรกิจแวร์เฮาส์ ภายใต้บริษัท แอลฟ่า อินดัสเตรียล โซลูชัน จำกัด นำเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นบริษัทที่ 4 ในเครือ

   ทั้งนี้ การปั้นพอร์ตอสังหาฯเพื่ออุตสาหกรรมเริ่มไม่ต่ำกว่า 3 ปี ปัจจุบันพัฒนาแล้ว 9 โครงการ บนที่ดินรวม 457 ไร่ คิดเป็นพื้นที่แวร์เฮาส์และโรงงานให้เช่า 383,093 ตร.ม. ได้แก่ 1.แวร์เฮาส์ บางนา กม.22 บนที่ดินเกือบ 25 ไร่ พื้นที่ 21,660 ตร.ม. 2.แวร์เฮาส์โซนรังสิต ที่ดิน 54 ไร่ครึ่ง พื้นที่ 57,845 ตร.ม. 3.แวร์เฮาส์ย่านบางนา กม.19 บนที่ดิน 78 ไร่ พื้นที่ 82,110 ตร.ม. 4.อำเภอพานทอง ชลบุรี ที่ดิน 41 ไร่ พื้นที่ 40,388 ตร.ม.

    5.โซนแหลมฉบัง ที่ดินเกือบ 100 ไร่ พื้นที่ทั่วไป 54,723 ตร.ม. กับพื้นที่ฟรีโซน 38,274 ตร.ม. 6.โซน ESIE A ที่ดิน 79 ไร่ พื้นที่ 16,850 ตร.ม. 7.ทำเลบางกะดี ที่ดินเกือบ 29 ไร่ พื้นที่ 28,125 ตร.ม. 8.โซน ESIE 1 อำเภอปลวกแดง ที่ดินเกือบ 22 ไร่ พื้นที่ 19,212 ตร.ม. และ 9.ย้อนกลับมาลงทุนที่บางนา กม.23 บนที่ดิน 27 ไร่ พื้นที่ 22,097 ตร.ม. โดยบริษัทอัลฟ่าฯ มีฮิดเด้นแวลูอีก 5,000 ล้านบาท

   SC บิลต์พอร์ต 2 แสน ตร.ม.

   นายณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ SC Asset กล่าวว่า ปี 2568 แผนธุรกิจตั้งเป้ายอดขาย 26,000 ล้านบาท เติบโต 4% เทียบกับปี 2567 เป้ารายได้รวม 25,000 ล้านบาท เติบโต 11% แบ่งเป็นรายได้หลัก จากบ้านแนวราบ 70% คอนโดฯ 22%

   ขณะที่รายได้อีก 8% มาจากการที่ SC เริ่มมีธุรกิจหลากหลายมากขึ้น ทั้งโรงแรม แวร์เฮาส์ ออฟฟิศบิลดิ้ง อพาร์ตเมนต์ในอเมริกา ณ ปีนี้ตั้งเป้าสัดส่วนรายได้ 8% ซึ่งในอนาคตรายได้กลุ่มนี้จะทวีสัดส่วนมากขึ้นเป็นลำดับ

   ทั้งนี้ หนึ่งในหลักคิดของ SC จากเดิมเน้นความยืดหยุ่นในการทำธุรกิจ ล่าสุดจากผลกระทบของภูเขาอุปสรรค ทั้งหนี้ครัวเรือนระดับสูง ซัพพลายล้น ความเชื่อมั่นตกต่ำ และภาวะภูมิรัฐศาสตร์เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในยุคประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ นำมาสู่การตกผลึกทางความคิดก้อนใหม่ออกมาว่า ยุคนี้ความยืดหยุ่นไม่สำคัญเท่ากับความหลากหลาย โดยการแตกไลน์ลงทุนสู่โครงการอสังหาฯเพื่ออุตสาหกรรม เพิ่มโอกาสสร้างรายได้ในทุกภาวะเศรษฐกิจ

   นำมาสู่การเซตธีมธุรกิจ 2568 นำเสนอโมเดล Rethink To Reform

   เป้าหมายของแผนรีฟอร์มในการปรับพอร์ตโฟลิโอธุรกิจ เพื่อเพิ่มความสมดุล มีกำไรจากธุรกิจที่หลากหลายมากขึ้น การลงทุนจะเป็นไปอย่างรอบคอบ ร่วมทุนกับพันธมิตรแข็งแกร่ง และสัดส่วนหนี้ต่อทุนจะลดลงอย่างมีนัยในปีนี้ โดยการลงทุนอสังหาฯเพื่ออุตสาหกรรมมุ่งเป้าสร้างคลังสินค้าให้เช่า พื้นที่รวม 200,000 ตร.ม. ใน 3 โครงการใหม่ กระจายทำเลครอบพื้นที่คลุมยุทธศาสตร์สำคัญ ทั้งบางนา กม.20, โซนแหลมฉบัง และนิคมอมตะ ชลบุรี

    MK ดันเรือธง "พรอสเพคฯ"

    นายวรสิทธิ์ โภคาชัยพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มั่นคงเคหะการ จำกัด (มหาชน) หรือ MK เปิดเผยว่า ปี 2568 มีการรีโมเดลแผนธุรกิจอีกครั้ง นำเสนอผ่านแผนยุทธศาสตร์ "2025 Transformative Growth Mission...พันธกิจพลิกเกมเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนระยะยาว"

    โดยแผนระยะกลางภายใน 2-3 ปีหน้า ลดบทบาทอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัย โดยมีแบรนด์หลัก "หมู่บ้านชวนชื่น" ซึ่งมีประวัติศาสตร์การพัฒนายาวนาน 60 ปี จากนั้นโปรโมตการลงทุนสร้างรายได้จากพอร์ตอสังหาฯ ประเภทอุตสาหกรรม โดยมีบริษัท พรอสเพค ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด หรือ PD-Prospect Development เป็นผู้รับผิดชอบหลัก ข้อมูลปี 2567 ที่ผ่านมา PD มีสัดส่วนรายได้ 47% ของรายได้รวมของกลุ่ม MK และสร้างสัดส่วนกำไรขั้นต้นคิดเป็น 54% โดยจัดอยู่ในท็อป 3 จากการมีพื้นที่แวร์เฮาส์ให้เช่าทะลุ 1 ล้าน ตร.ม.

   "พรอสเพค ดีเวลลอปเมนท์ คือ เรือธงสำคัญในการขับเคลื่อนรายได้ประจำของกลุ่ม MK โดยเฉพาะในยุคที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยแนวราบเผชิญความท้าทาย การปรับโครงสร้างบริษัทจึงเป็นการวางรากฐานใหม่ เพื่อให้กลุ่ม MK สามารถเติบโตมั่นคงและยั่งยืนในระยะยาว ผลงานของ PD พิสูจน์ความพร้อมเป็นเสาหลักสร้าง New S-curve ทางธุรกิจได้อย่างแข็งแกร่ง เราเป็นผู้นำธุรกิจ คลังสินค้า-โรงงานให้เช่าพื้นที่ Free Zone ของไทย และล่าสุดกับการขยายสู่ธุรกิจใหม่นิคมอุตสาหกรรม"

    เรื่องใหม่ปีนี้นับเป็นครั้งแรกที่จะลงทุนนิคมอุตสาหกรรม ภายใต้ชื่อ "นิคมอุตสาหกรรมบางปะกง" บนที่ดินรวม 1,000 ไร่ มูลค่า 6,500 ล้านบาท ราคาขายไร่ละ 13 ล้านบาทบวกลบ เจาะลูกค้านักลงทุน 7 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ อุตฯเกษตรและแปรรูปอาหาร, ยานยนต์, ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมเบา รวมถึงดิจิทัลอย่าง ดาต้า เซ็นเตอร์, เทคโนโลยีคลาวด์

   ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ตามแผนเตรียมลงทุนพัฒนาสาธารณูปโภคภายในนิคมอุตฯในปี 2569 และคาดว่าจะเปิดดำเนินการในปี 2570 โดยร่วมกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนคนไทยและต่างชาติ
 
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาคเอกชน อื่นๆ