'อีอีซี'วางเป้า 2 ปี ดึง 30 บริษัทชั้นนำโลกเข้าลงทุน
Loading

'อีอีซี'วางเป้า 2 ปี ดึง 30 บริษัทชั้นนำโลกเข้าลงทุน

วันที่ : 2 พฤษภาคม 2560
'อีอีซี'วางเป้า 2 ปี ดึง 30 บริษัทชั้นนำโลกเข้าลงทุน

          เลขาอีอีซี วางเป้าหมายภายใน 2 ปีจะดึง 30 บริษัทชั้นนำของโลกเข้าลงทุนในพื้นที่ เผยบริษัทยักษ์ใหญ่หลายรายสนใจไทยเป็นฮับกระจายสินค้าโดยมีกองทุนเพิ่มขีดแข่งขัน 1 หมื่นล้านบาทพร้อมให้การสนับสนุนและกำลังปรับกฎระเบียบให้เอื้อต่อการลงทุน และข้อเสนอที่ดีกว่าหากตัดสินใจลงทุนในไทย โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี ถือเป็นยุทธศาสตร์ชาติ ที่รัฐบาลต้องการผลักให้เกิดขึ้นและเชื่อว่าจะเปลี่ยนประเทศไทยในอนาคต ซึ่งแผนดังกล่าวต้องการดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนชั้นนำจากต่างประเทศ

          คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กล่าวว่า 1 ใน 5 แผนการพัฒนาพื้นที่อีอีซี คือ การดึงบริษัทชั้นนำของโลกที่เรียกได้ว่าเป็นแชมป์เปี้ยนของ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาลมาลงทุนในพื้นที่ดังกล่าว โดยตั้งเป้าหมายภายในปีแรกจะดึงบริษัทชั้นนำดังกล่าวเข้ามาลงทุนให้ได้ 10 บริษัท และปีที่สองอีก 20 บริษัท รวมทั้งหมด 2 ปี 30 บริษัท

          ทั้งนี้ บริษัทชั้นนำของโลกหลายบริษัท ที่สนใจจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เช่น กลุ่มค้าขายสินค้าแบบโมเดิร์นเทรด อาทิ บริษัทลาซาด้า, บริษัทอาลี บาบา ,Airbus ที่จะทำอู่ซ่อมเครื่องบินแอร์บัส 787 ซึ่งจะเป็นแห่งแรกในเอเชีย และรวมถึง จะดึงบริษัทโรลส์รอยซ์ มาสร้างศูนย์ซ่อมเครื่องบินโรลส์รอยซ์ และ ดึงบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ด้วย

          "หลายสิบปีที่ผ่านมา เราไม่มีบริษัทใหม่เข้ามาลงทุนในบีโอไอเลย ซึ่งเราอยากได้ 30 ราย ก็ตั้งทีมไปเจรจา โดยเราจะเลือกแชมเปี้ยนของอุตสาหกรรมและไปดึงมา ถ้าทำแบบเดิมที่บีโอไอ ปรากฏหลายบริษัทไปที่อื่นหมด"

          ทั้งนี้ การลงทุนของอุตสาหกรรมเหล่านี้จะมีกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายวงเงิน 1 หมื่นล้านบาทให้การสนับสนุน

          คณิศยืนยันว่าการส่งเสริมการลงทุนนั้นเราไม่ได้ให้อะไรที่มากไปกว่าการส่งเสริมในสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ เพียงแต่ปรับปรุงระเบียบภายในให้เป็นมาตรฐานสากล แต่หากอุตสาหกรรมใดต้องการส่งเสริมการลงทุนที่มากกว่า เราก็จะพิจารณาให้ และแถมด้วยเงื่อนไขพิเศษที่เราจะไม่ให้เงื่อนไขพิเศษนี้แก่นักลงทุนที่มาเป็นรายที่สอง

          การดึงบริษัทชั้นนำของโลกเข้ามาลงทุนในประเทศไทยนั้น จำเป็นต้องปรับกฎระเบียบให้เอื้อต่อการลงทุน ตามมาตรฐานสากล เช่น กรณีเราต้องการดึงบริษัทอาลี บาบา ,บริษัท ลาซาด้า ซึ่งเป็นผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซชั้นนำของโลก เข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพื่อเป็นศูนย์การด้านการขนส่ง หรือโลจิสติกส์ ฮับ จะต้องทำขั้นตอนทางเอกสารด้านการนำเข้าและส่งออกเป็น อิเล็กทรอนิกส์ ทั้งหมด และให้สามารถทำ Re-packaging เพื่อส่งต่อไปยังประเทศที่สามได้ ซึ่งกฎหมายใหม่ของกรมศุลกากร ได้ปรับแก้ไขแล้ว แต่จะกำหนดให้เป็นพื้นที่ๆ เท่านั้น

          "การลงทุนพวกนี้จะอยู่ภายใต้เงื่อนไขบีโอไออยู่แล้ว ถ้าจะให้มากกว่าก็ต่อเมื่อจำเป็นจริงๆ อย่างลาซาด้าบอกว่า บีโอไอก็เฉยๆใครๆก็ให้ผม แต่โครงการผมทั้งหมดมันมีเรื่องของศุลกากรเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย และมันมีเรื่องไอที ที่ต้องวางระบบและมีลูกค้าให้ ฉะนั้น โครงการนี้ต้องมีคนดูแล ซึ่งสำนักงานของเราก็จะประสานงานดูแลให้"

          กรณีที่เราดึงลาซาด้าและอาลีบาบาเข้ามาลงทุนในไทย เป้าหมายหลักของเราไม่ได้ต้องการเงินลงทุน แต่ต้องการที่จะทำให้สินค้าของไทยโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีสามารถเชื่อมการค้าขายผ่านบริษัทดังกล่าวไปยังตลาดอื่นต่างประเทศด้วย เพราะสองบริษัทดังกล่าวมีปริมาณการค้าที่สูง

          "เขามีข้อเสนอเรื่องช่วยหาลูกค้าให้ เราก็มีข้อเสนอที่จะให้เอาสินค้าของเราขึ้นไปบนเว็บของเขา ถือว่า ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่ายและเราก็ขอว่า ให้ช่วยมาสอนวิธีที่จะนำสินค้าไปโพสต์บนเว็บเขาด้วย เขาก็ยินดี"

          คณิศ กล่าวอีกว่า สำหรับอีก 4 แผนงานที่เขาได้รับปากกับนายกรัฐมนตรีว่า จะทำภายใน 1 ปี คือ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ภายใน 1 ปีนับจากนี้จะต้องสามารถออกเงื่อนไขการลงทุนและเปิดประมูลรวมถึงลงนามในสัญญาก่อสร้าง ก่อนที่รัฐบาลชุดนี้จะพ้นวาระ ทั้งนี้ การลงทุนพัฒนาเพื่อขยายสนามบินอู่ตะเภา ใช้งบเพียง 5 หมื่นล้านบาทจะทำให้ประเทศได้สนามบินนานาชาติในระดับเท่ากับสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งหากเราต้องลงทุนใหม่ เพื่อพัฒนาสนามบินให้เท่ากับสนามบินสุวรรณภูมิในวันนี้ต้องใช้งบประมาณถึง 1.8 แสนล้านบาท

          นอกจากนี้ จะดำเนินโครงการสร้างรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน คือ สุวรรณภูมิ,อู่ตะเภา,และดอนเมือง ซึ่งทางกระทรวงคมนาคม ตกลงที่จะทำเชื่อมเข้าถึงตัวสนามบินทั้งสามสนามบินแล้ว และยังมีแผนดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกสัตหีบ และรวมถึงการสร้างรถไฟรางคู่ เข้าถึงตัวท่าเรือ และสุดท้ายโครงการพัฒนาสาธารณูปโภคและการวางผังเมืองในเขตอีอีซี

          ทั้งนี้ มีเป้าหมายที่จะให้มีการขนส่งสินค้าทางรางในพื้นที่ อีอีซีให้ได้ถึง 30% ของการขนส่งทั้งหมด จากปัจจุบัน มีการขนส่งทางรางในพื้นที่อีอีซีเพียง 9% ขณะที่การขนส่งทางรางทั้งประเทศอยู่ที่เพียง 2%

          โครงการอีอีซีที่คาดว่าจะใช้เม็ดเงินลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ราว 4-5แสนล้านบาทนั้น มีกฎหมายพัฒนาพื้นที่เฉพาะรองรับโดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน คณะกรรมการ และตั้งสำนักงานขึ้นมาประสานงานตามกฎหมาย

          "ผมเชื่อว่าไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาล คงปฏิเสธ 5 โครงการหลักดังกล่าวไม่ได้ใครมาก็ต้องทำ อาจมีการปรับเปลี่ยนเล็กน้อย เช่น การเพิ่มเติมอุตสาหกรรมเป้าหมาย เป็นต้น และผมว่าไม่มีประเทศใด ที่จะสามารถก้าวพ้น การเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปได้ โดยไม่มีการพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งโครงการอีอีซีจะเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในประเทศเป็นการสร้างรูปแบบของการลงทุนที่ประเทศต้องการ และเป็นการสร้างรูปแบบเทคโนโลยีให้กับเยาวชนในอนาคต"

          สำหรับพื้นที่อีอีซี จะคลอบคลุม 3 จังหวัด คือ จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง โดยจังหวัดฉะเชิงเทรานั้น วางแผนที่จะพัฒนาให้เป็นเมืองคู่แฝดของ กทม. โดยเชื่อม ระหว่าง กทม.กับฉะเชิงเทรา ด้วยรถไฟความเร็วสูง ใช้เวลาเดินทางราวครึ่งชั่วโมง เพื่อเข้ามาทำงานในกทม. และกลับมาพักในฉะเชิงเทรา

          ส่วนระยองนั้น และชลบุรีนั้น เป็นแผนระยะยาว ที่ต้องการสร้างเมืองในระดับอาเซียน ที่เป็นInternational Center โดยเป็นศูนย์กลางทางการเงิน เหมือนสิงคโปร์ โดยมีรถไฟความเร็วสูงเชื่อม กทม. ชลบุรี และระยอง ใช้เวลาเดินทางราว 1 ชั่วโมงเศษ

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาครัฐ อื่นๆ