ผุดรถรางไฟฟ้า3จว.อีอีซี
Loading

ผุดรถรางไฟฟ้า3จว.อีอีซี

วันที่ : 20 กรกฎาคม 2563
สนข.ลุยรถไฟไฟ้าราง ฉะเชิงเทรา,ชลบุรี,ระยอง
          รายงานวันจันทร์ 

          เมื่อเร็วๆนี้ ที่โรงแรมโกลเด้น ซิตี้ จ.ระยอง สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จัดสัมมนาและรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 แผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะกลุ่มจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง เพื่อสนับสนุนและรองรับการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยมีผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นผู้ประกอบการเดินรถโดยสารสาธารณะฯ เข้าร่วม

          ในการสัมมนา สนข.รายงานผลการศึกษารูปแบบการลงทุน และวิธีการนำไปสู่การปฏิบัติรวมถึงการเชื่อมโยงพื้นที่เมืองด้วยระบบขนส่งสาธารณะมี 3 ระบบ ได้แก่ 1.ระบบขนส่งสาธารณะหลัก เชื่อมระหว่างภูมิภาค 2.ระบบขนส่งสาธารณะรอง เชื่อมระหว่างเมืองในเขตเมือง และ 3.ระบบขนส่งสาธารณะเสริมเชื่อมพื้นที่อยู่อาศัย ทั้งนี้ ต้องมีความสะดวกเข้าถึงง่าย ปลอดภัย และมีความคุ้มค่า

          สำหรับเส้นทางระบบขนส่งสาธารณะ จังหวัดฉะเชิงเทรา มีทั้งหมด 5 เส้นทาง ประกอบด้วยเส้นทางที่ 1 HSR ฉะเชิงเทรา-โรงเรียนเบญจมฯ-ตะวันออกคอมเพล็กซ์ เส้นทางที่ 2 HSR ฉะเชิงเทรา-วัดโสธรฯ เส้นทางที่ 3 รอบเมืองฉะเชิงเทรา เส้นทางที่ 4 HSR ฉะเชิงเทรา-บางคล้า และเส้นทางที่ 5 HSR ฉะเชิงเทรา-บ้านโพธิ์-บางปะกง โดยเส้นทางที่ 1 HSR เหมาะสมทำเป็นโครงการนำร่อง

          จังหวัดชลบุรี มี 8 เส้นทางประกอบด้วยเส้นทางที่ 1 HSR ชลบุรี-เมืองชลบุรี-(นิคมฯอมตะซิตี้ชลบุรี) เส้นทางที่ 2 HSR ชลบุรี-บางแสน/ตัดช่วง HSR ชลบุรี-หนองมน เส้นทางที่ 3 HSR ชลบุรี-บ้านบึง-EECi เส้นทางที่ 4 HSR ศรีราชา-แหลมฉบัง เส้นทางที่ 5 HSR ศรีราชา-EECd เส้นทางที่ 6เมืองศรีราชา-HSR ศรีราชา-นิคมฯอมตะซิตี้ระยอง (ปลวกแดง) เส้นทางที่ 7 HSR พัทยา-แหลมบาลีฮาย และเส้นทางที่ 8 HSR พัทยา-สวนนงนุช โดยคัดเลือกเส้นทางที่ 6 เป็นโครงการนำร่อง

          จังหวัดระยอง มี 6 เส้นทางประกอบด้วยเส้นทางที่ 1 นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด-นิคมอุตสาหกรรม IRPC เส้นทางที่ 2 แหลมเจริญ-สามแยกขนส่ง เส้นทางที่ 3 HSR อู่ตะเภา-ระยอง-บ้านเพ เส้นทางที่ 4 ระยอง-บ้านค่าย-EECi เส้นทางที่ 5 นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด-นิคมพัฒนา-ปลวกแดง และเส้นทางที่ 6 HSR อู่ตะเภา-ระยอง-EECi โดยคัดเลือกเส้นทางที่1เป็นโครงการนำร่อง

          โดยการลงทุนนั้น รัฐบาลจะร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และบริษัทเอกชนตามความเหมาะสม เบื้องต้นรูปแบบของรถโดยสารจะเป็นรถโดยสารไฟฟ้า EV BUS รถโดยสารขนาดเล็ก EV minibus และรถไฟฟ้าล้อยาง Trambus โดยมีทั้งใช้ช่องทางเฉพาะ (Exclusive Lane) และช่องทางร่วมกับรถทั่วไป (Shared Lane)

          ขณะที่ผู้เข้าร่วมสัมมนามีข้อเสนอแนะต่างๆ อาทิ ให้ขยายเส้นทางสำหรับนักท่องเที่ยวจากสนามบินอู่ตะเภาไปบ้านเพเกาะเสม็ด และเส้นทางสำหรับประชาชนจากเมืองระยองไปตลาดตะพงมีการเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างสถานีรถไฟความเร็วสูง สนามบินอู่ตะเภา และท่าเรือสัตหีบ ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญของ EEC รวมทั้งให้พิจารณาแก้กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ผู้ประกอบการสหกรณ์เดินรถโดยสารประจำทางเดิมเข้ามามีส่วนร่วมในกิจการเดินรถใหม่ เป็นต้น โดย สนข.จะจัดทำเป็นรายงานเสนอกระทรวงคมนาคมและคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเพื่อดำเนินการในขั้นต่อไป
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ