ธนารักษ์ ผ่าทางตัน ที่ดินหมอชิต 2.7หมื่นล้านติดล่ม
Loading

ธนารักษ์ ผ่าทางตัน ที่ดินหมอชิต 2.7หมื่นล้านติดล่ม

วันที่ : 16 มกราคม 2565
หลังจากได้ข้อสรุปแล้ว ต้องสำรวจพื้นที่ภายในโครงการฯอีกครั้ง ควบคู่กับการดูข้อกฎหมายร่วมกัน หากมีการดำเนินการโครงการฯ แล้วอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2562 จะเดินหน้าต่ออย่างไร
          อธิบดีกรมธนารักษ์คนใหม่เครื่องร้อน เดินหน้าลุย มิกซ์ยูส 2.7 หมื่นล้าน ที่ดินหมอชิตเก่า 63 ไร่ เก็บค่าเช่า 6.1 ล้านบาทต่อปี หารายได้ หลังล่าช้าเกือบ 30 ปี เอกชนยังเข้าพื้นที่ไม่ได้ เหตุติดข้อกฎหมาย คาดจบภายในเดือนมกราคมพร้อมดันครม.ไฟเขียว ขณะบิ๊กทุนขึ้นโครงการพรึบ

          ล่าช้ามาเกือบ 30 ปี สำหรับโครงการพัฒนาที่ดินบริเวณหมอชิตเก่า บนที่ดินที่ราชพัสดุกรมธนารักษ์ติดสถานีบีทีเอสหมอชิต ที่บริษัทบางกอกเทอร์มินอล (BKT) ชนะประมูล แต่ไม่สามารถลงนามในสัญญาได้ เนื่องจากยังติดขัดข้อกฎหมาย ส่งผลให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ การย้ายสถานีขนส่งหมอชิต 2 ถนนกำแพงเพชร กลับมาที่เดิมยังไร้ทางออก

          นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาที่ดินบริเวณหมอชิตของบริษัทบางกอกเทอร์มินอล จำกัด (BKT) ผู้ได้รับสัมปทาน ปัจจุบันยังติดปัญหาเรื่องข้อกฎหมายระหว่างพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน พ.ศ.2562 หรือ PPP และพรบ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2562 เนื่องจากมีการเปลี่ยนข้อกฎหมาย ที่ผ่านมาโครงการฯ เคยอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2518 และกฎหมาย PPP แต่ปัจจุบันกฎหมาย PPP พ.ศ.2562 มีการออกบทบัญญัติเฉพาะกาลเพิ่มเติม ทำให้กรมฯต้องดำเนินการเรื่องข้อกฎหมายให้ได้ข้อยุติก่อน คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม 2565 และเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป

          "หลังจากได้ข้อสรุปแล้ว ต้องสำรวจพื้นที่ภายในโครงการฯอีกครั้ง ควบคู่กับการดูข้อกฎหมายร่วมกัน หากมีการดำเนินการโครงการฯแล้วอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2562 จะเดินหน้าต่ออย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดและโครงการฯ ล่าช้ากว่าเดิม ส่วนของการทางยกระดับสำหรับเข้าออกโครงการ เพื่อเชื่อมกับถนนวิภาวดีรังสิต โดยต้องมีการเวรคืนที่ดินตามพระราชกฤษฎีกาบริเวณวิภาวดีซอย5 นั้น ปัจจุบันกรมฯขอศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมก่อนว่าเป็นอย่างไร"

          สำหรับรูปแบบโครงการ BKT อายุสัมปทาน 30 ปี มีพื้นที่ใช้สอบรวม 888,046 แสนตารางเมตร ประกอบด้วย พื้นที่ชดเชย (มอบให้กับกรมขนส่งทางบก)  1.12 แสนตารางเมตร เพื่อใช้เป็นอาคารสถานีขนส่ง พื้นที่ใช้สอยในราชการ และพื้นที่เชิงพาณิชย์ของบริษัท BKT จำนวน 776,046 แสนตารางเมตร เพื่อสร้างเป็นอาคารสำนักงาน, พื้นที่ศูนย์การค้า, เชอร์วิสอพาร์ทเม้นท์ และที่จอดรถ

          ส่วนการจ่ายผลประโยชน์ในค่าเช่าที่ดินให้กับกรมธนารักษ์ของโครงการนี้นั้น ตามสัญญาสัมปทาน กำหนดให้ผู้รับสัมปทานจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการใช้ประโยชน์ที่ดิน 550 ล้านบาท และค่าเช่าพื้นที่ในระหว่างการก่อสร้าง 6.1 ล้านบาทต่อปี และค่าเช่าหลังจากก่อสร้างโครงการเสร็จแล้ว จะต้องจ่ายตลอดอายุสัญญาสัมปทาน 5 ล้านบาทต่อปี

          แหล่งข่าวจาก BKT ระบุว่า ที่ผ่านมาบริษัทรอลงนามในสัญญากับกรมธนารักษ์แต่ ยอมรับยังติดปัญหาในข้อกฎหมาย ทำให้เกิดความล่าช้าขณะต้นทุนปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามมองว่ากรมธนารักษ์น่าจะหาทางออกได้โดยเร็ว

          "ฐานเศรษฐกิจ" สำรวจที่ดินบริเวณถนนพหลโยธิน (จตุจักร) มีโครงการขนาดใหญ่ภาคเอกชนเกิดขึ้นจำนวนมาก ทั้งโครงการหมอชิตคอมเพล็กซ์ ตึกแฝดของ ของ  บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS สูง 36 ชั้น และ ชั้นใต้ดิน 3 ชั้น เนื้อที่ 11 ไร่ ภายในโครงการจะมีทั้งอาคารสำนักงาน พาณิชยกรรม สถานศึกษา ภัตตาคาร และที่จอดรถ อีกทั้งมี สกายวอล์ค (skywalk) เชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสหมอชิต ซึ่งมีมูลค่างานกว่า 9 พันล้านบาท ระยะเวลาการก่อสร้าง 50 เดือนคาดว่าจะเปิดให้บริการภายในปี 2567

          ยังมีพื้นที่พัฒนาเชิงพาณิชย์ โครงการเอส โอเอซิส อาคารสำนักงาน มูลค่า 3,695 ล้านบาท ตั้งอยู่ในซอยเฉยพ่วง ถนนวิภาวดีทะลุพหลโยธิน พื้นที่ 6 ไร่เศษของบริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) อีกทั้งสถานีกลางบางซื่อศูนย์กลางทางรางในแห่งใหม่ในประเทศไทยยังไม่รวมโครงการคอนโดมิเนียม มีรถไฟฟ้า 2 เส้นทาง บีทีเอสสายสีเขียวและ MRT สีน้ำเงิน เชื่อมต่อ ขณะราคาที่ดินปรับสูง บริษัท โมเดอร์น พร็อพเพอร์ตี้ คอนซัลแตนท์ จำกัด ประเมินบริเวณสถานีหมอชิต ราคา7แสน-1 ล้านบาทต่อตารางวา เมื่อ 2 ปีก่อน

          "ติดปัญหาในข้อกฎหมาย ทำให้เกิดความล่าช้าขณะต้นทุนปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง"
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาครัฐ อื่นๆ