ราคาบ้านใหม่ขยับไม่รอกำลังซื้อ หลังที่ดินพุ่งต่อเนื่องแม้ โควิด ยังฉุดไม่อยู่ REIC เผยดัชนีราคาที่ดินเปล่า Q4/ 65ขยับ 12.5% จากปี 64
Loading

ราคาบ้านใหม่ขยับไม่รอกำลังซื้อ หลังที่ดินพุ่งต่อเนื่องแม้ โควิด ยังฉุดไม่อยู่ REIC เผยดัชนีราคาที่ดินเปล่า Q4/ 65ขยับ 12.5% จากปี 64

วันที่ : 30 มกราคม 2566
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เผยว่า ปัจจัยที่ทำให้ราคาที่ดินเปล่ามีการเพิ่มขึ้นมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังยืดเยื้อ จนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ซึ่งอาจจะทำให้เศรษฐกิจไทย ปี 66 ขยายตัวลดลง รวมถึงรัฐบาลได้ประกาศจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเต็มอัตรา
          อสังหาริมทรัพย์

          ทิศทางการปรับตัวของราคาที่อยู่อาศัยทุกเซกเมนต์ ในปี 11 ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับตัวของต้นทุนวัสดุก่อสร้าง ที่มีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการปรับตัวขึ้นของต้นทุนพลังงานในตลาดโลก ประกอบกับต้นทุนแรงงานที่เพิ่มขึ้น และที่สำคัญที่สุด คือ การปรับตัวของราคาที่ดิน ซึ่งเป็นต้นทุนหลักในการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย ทำให้ราคาที่อยู่อาศัยเปิดใหม่มีราคาสูงขึ้นในทุกๆ โครงการ

          นายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ จำกัด กล่าวว่า การพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์มีที่ดินเป็นต้นทุนหลัก เพราะโครงการ ส่วนใหญ่เกือบ 100% พัฒนาบนที่ดิน ดังนั้น ต้นทุนของการพัฒนาโครงการอสังหาฯ ไม่ว่าจะเป็นโครงการประเภทใดก็ตามจะอยู่ที่ที่ดิน ราคาที่ดินจึงแทบจะเป็นตัวกำหนดประเภทของโครงการ รูปแบบของโครงการ รวมไปถึงระดับราคาขายของโครงการบนที่ดินแปลงนั้นๆ

          เนื่องจากต้นทุนที่ดินคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 15-25% ของต้นทุนในการพัฒนาโครงการทั้งหมด ขึ้นอยู่กับประเภทของโครงการ ทำเลที่ตั้งของที่ดิน และระดับของโครงการ ดังนั้น ช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมาจึงเห็นแต่โครงการคอนโดมิเนียมเกิดขึ้นบนที่ดินที่อยู่ในแนว เส้นทางรถไฟฟ้า ไม่มีใครซื้อที่ดินริมถนนไม่ไกลจาก สถานีรถไฟฟ้าเพื่อพัฒนาเป็นอาคารพาณิชย์ขายแบบเมื่อ 30 ปีก่อนอีกแล้ว หรือแม้แต่โครงการเชิงพาณิชยกรรม เช่น อาคารสำนักงานยังมีโครงการใหม่ในพื้นที่ CBD ของกรุงเทพมหานครในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และอาคารสำนักงานส่วนใหญ่ใน CBD สร้างบนที่ดินที่เป็นสัญญาเช่าระยะยาวเกือบทั้งหมด เนื่องจากราคาที่ดินเมื่อมีการซื้อขายแล้วสามารถพัฒนาเป็นโครงการคอนโดมิเนียมได้เท่านั้นจึงจะคุ้มค่าแก่การลงทุน*พัฒนาการของการปรับราคาที่ดิน

          การเปิดให้บริการของเส้นทางรถไฟฟ้าเส้นทางแรกเมื่อปี 42 และเส้นทางรถไฟฟ้าใต้ดินเส้นทางแรกปี 47 เป็นเสมือนการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของ รูปแบบการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์บนที่ดิน ในกรุงเทพฯ แบบชัดเจน เพราะราคาที่ดินในพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าต่างๆ เพิ่มขึ้นมากกว่า 2-3 เท่าในช่วง 20-25 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ชัดเจนว่าราคาที่ดินแพงขึ้นมาก ที่ดินแถวเพลินจิต และวิทยุเมื่อประมาณปี2550 มีราคาซื้อขายอยู่ที่ประมาณ 9.26 แสนบาทต่อตารางวา แต่พอปี 53 ใกล้ๆ กันมีการซื้อขายที่ราคาประมาณ 1.5 ล้านบาทต่อตารางวา ก่อนที่จะเกิน 2 ล้านบาทต่อตารางวาในช่วงปี 61 เพิ่มขึ้นเท่าตัวในเวลา 10 ปี

          ในย่านชิดลม หลังสวนก็มีการซื้อขายที่ดินในราคาสูงๆ ต่อเนื่องเช่นกัน เช่น ปี 58 มีการซื้อที่ดินพร้อมบ้านเก่าบนถนนชิดลมในราคา 1.9 ล้านบาทต่อตารางวา ก่อนที่ในปี 61 จะมีการซื้อขายที่ดินพร้อมบ้านเก่าในราคาประมาณ 3.1 ล้านบาทต่อตารางวา มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของราคาในพื้นที่นี้มากกว่า 64% ในช่วง 3-4 ปี จะเห็นได้ว่าพื้นที่ใจกลางเมืองราคาที่ดินปรับเพิ่มขึ้นแบบชัดเจนมาก และราคาที่ดินยังดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นได้อีก เพียงแต่ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมายังไม่มีการซื้อ-ขายที่ดินในราคาสูงๆ ออกมาให้ได้ฮือฮา ยกเว้นการซื้อที่ดินพร้อมอาคารสำนักงานบนสารสินในราคาตารางวาละ 3.9 ล้านบาท ซึ่งเป็นการซื้อพร้อมอาคารสำนักงานที่มีผู้เช่าอยู่แล้ว

          เช่นเดียวกับที่ดินที่อยู่บนถนนสุขุมวิทในพื้นที่ CBD ที่ปรับเพิ่มขึ้นชัดเจนเช่นกัน และมีการปรับเพิ่มขึ้นในอัตราที่ไม่แตกต่างจากพื้นที่หลังสวน-ชิดลมเลย เพียงแต่ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาอาจจะชะลอตัวลงไป แต่การประกาศขายที่ดินในพื้นที่ตามแนวถนนสุขุมวิทก็ไม่ได้มีการปรับลดราคาลงมาเลย ส่วนใหญ่จะมีการตั้งราคาขายอยู่ในช่วงระหว่าง 2-3 ล้านบาทต่อตารางวา อาจจะมีลดหรือมากกว่านี้ก็ในบางทำเลกับที่ดินบางแปลง แต่ไม่มีการลดราคาลงมาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะไม่มีการซื้อขายที่ดินในราคาสูงๆ ก็ตาม เพราะผู้ประกอบการโครงการคอนโดมิเนียมเลือกที่จะชะลอการพัฒนาโครงการที่มีราคาแพงๆ จึงยังไม่มีการเจรจาซื้อขายที่ดินในทำเลเหล่านี้ อีกทั้งยังชะลอการพัฒนาโครงการในทำเลเหล่านี้ ว่าจะมีที่ดินแล้วก็ตาม

          สำหรับที่ดินที่อยู่ไกลออกไปจากย่านใจกลางเมืองก็เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนเช่นกัน เพราะการพัฒนาเส้นทางรถไฟฟ้าต่างๆ มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาที่ดินในทำเลต่างๆ รอบกรุงเทพฯ โดยเฉพาะทำเล หรือย่านที่มีเส้นทางรถไฟฟ้าผ่านจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของราคาที่ดินได้ชัดเจน ไม่ต้องพูดถึงทำเลในพื้นที่รอบๆ CBD เช่น พญาไท พหลโยธิน รัชดาภิเษก หรือพระราม 4 ที่ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าหรือมากกว่านี้ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา พื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีชมพูก็เห็นการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของราคาที่ดินชัดเจน

          โดยเฉพาะในพื้นที่ตามแนวถนนรามอินทรา โดยราคาที่ดินปัจจุบันอยู่ในช่วง 200,000-300,000 บาทต่อตารางวา ปรับเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 15-30% เช่นกันในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่ดินในซอยก็มีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน เพราะมีผู้ประกอบการโครงการบ้านจัดสรรเข้าไปซื้อที่ดินกันมากมายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ราคาที่ดินในซอยต่างๆ ที่แยกออกจากถนนรามอินทราปรับเพิ่มขึ้นไปมากกว่า 10% จากช่วงก่อนปี 63 ซึ่งปัจจุบันอาจจะมีหลายแปลง ที่บอกขายในราคามากกว่า 58,000 บาทต่อตารางวา ซึ่งยากที่จะนำมาพัฒนาโครงการทาวน์เฮาส์ราคาไม่แพง ผู้ประกอบการหลายรายจึงเปิดขายโครงการบ้านเดี่ยว มากขึ้นในพื้นที่นี้

          ทั้งนี้ พื้นที่ตามแนวถนนลาดพร้าว และศรีนครินทร์ซึ่งอยู่ในพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเหลืองก็มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของราคาที่ดินเช่นกัน เพราะการพัฒนาเส้นทางรถไฟฟ้า ประกอบกับพื้นที่ตามแนวถนนทั้งสองเส้นทางนี้มีการพัฒนามาก่อนหน้านี้หลายปีมากแล้ว รวมไปถึงมีสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ครบมาแล้วด้วยเช่นกัน การมีเส้นทางรถไฟฟ้าเท่ากับว่าเป็นการเพิ่มศักยภาพของพื้นที่สูงขึ้นไปอีก ซึ่งราคาที่ดินในพื้นที่ตามแนวถนนลาดพร้าวก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาโดยตลอด

          ช่วงก่อนปี 60 ราคาที่ดินตามแนวถนนลาดพร้าวอยู่ที่ 150,000-500,000 บาทต่อตารางวา แต่ ณ ปัจจุบันราคาที่ดินอยู่ในช่วงระหว่าง 200,000-800,000 บาทต่อ ตารางวา และสำหรับพื้นที่ตามแนวถนนศรีนครินทร์ไปจนถึงสถานีสำโรงมีราคาที่ดินในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2560 อยู่ที่ระหว่าง 150,000-250,000 บาทต่อตารางวา แต่ ณ ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 200,000-600,000 บาทต่อตารางวา แล้วแต่ทำเลและศักยภาพของที่ดิน ราคาที่ดินในซอยตามแนวถนนศรีนครินทร์ก็เพิ่มขึ้นเช่นกันจนยากที่จะพัฒนาโครงการทาวน์เฮาส์ในพื้นที่นี้อีกแล้ว เพราะราคาที่ดินมากกว่า 50,000 บาทต่อตารางวาแล้วในหลายๆ พื้นที่ตามแนวถนนจรัญสนิทวงศ์ และเพชรเกษมที่มีเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินผ่านก็เช่นกัน

          ทั้งนี้ ที่ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นแบบต่อเนื่อง จนเริ่มเห็นการกว้านซื้อตึกแถว อาคารพาณิชย์ริมถนนมากขึ้นเพื่อนำมาพัฒนาเป็นโครงการคอนโดมิเนียม ที่ดินในพื้นที่ตามแนวถนนจรัญสนิทวงศ์ และเพชรเกษมในทำเลที่ไม่ไกลจากสถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินมีราคาขายที่ไม่ต่ำกว่า 3-5 แสนบาทต่อตารางวาไปแล้ว เพิ่มขึ้นกว่า 1 เท่าตัวจากก่อนหน้านี้ไม่กี่ปี เพราะเกิดการซื้อขายที่ดินกันต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จนทำให้ราคาที่ดินเพิ่มขึ้น และราคาขายคอนโดมิเนียมโครงการใหม่ๆ ก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน หลายโครงการเปิดขายในราคาเริ่มต้นที่ไม่น้อยกว่า 110,000 บาทต่อตารางเมตร ซึ่งอาจจะถือว่าสูงมากสำหรับโครงการในฝั่งธนบุรี

          ทั้งนี้ พื้นที่ตามแนวถนนเส้นทางใหม่ๆ ที่เพิ่งเปิดให้บริการ เช่น พื้นตามแนวถนนกรุงเทพกรีฑาตัดใหม่ (ศรีนครินทร์-ร่มเกล้า) ก็ปรับเพิ่มสูงขึ้นกว่า 1-2 เท่าตัวในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพราะเข้าไปซื้อที่ดินของผู้ประกอบการต่างๆ จนมีผลให้ราคาที่ดินในทำเลนี้มากกว่า 130,000 บาทต่อตารางวาไปแล้ว ซึ่งแน่นอนว่าราคาที่ดินขนาดนี้นั้นไม่สามารถพัฒนาโครงการบ้านจัดสรรราคาถูกได้อยู่แล้ว ช่วงที่ผ่านมาจึงมีแต่โครงการบ้านจัดสรรราคาแพงใน ทำเลนี้ เช่นเดียวกันกับพื้นที่ตามแนวถนนเทพรักษ์ที่แม้ว่าจะอยู่ไม่ไกลจากเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียวแต่ราคาที่ดิน อาจจะไม่ร้อนแรงเท่าที่ควร เพราะราคาที่ดินตอนนี้อยู่ในช่วงระหว่าง 80,000-140,000 บาทต่อตารางวา สำหรับที่ดินติดถนน แต่ถ้าอยู่ในซอยก็ต่ำกว่านั้น แล้วแต่ขนาดที่ดิน และทำเลที่ตั้งของที่ดิน

          โดยที่ดินในหลายทำเลทั่วกรุงเทพมหานครและปริมณฑลปรับเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบและประเภทของโครงการให้สอดคล้องกับราคาที่ดิน ประกอบกับต้นทุนในการก่อสร้างก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ดังนั้น ราคาบ้านหรือคอนโดมิเนียมในปี 66 เป็นต้นไปมีราคาขายที่สูงขึ้นมากกว่า 8-10% แน่นอน หรืออาจจะมากกว่านี้ก็ได้ในหลายๆ ทำเล เพราะต้นทุนการพัฒนาโครงการต่างๆ สูงขึ้นหมด และบางอย่างสูงขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้ว เพียงแต่ผู้ประกอบการเลือกที่จะลดคุณภาพของวัสดุลงเพื่อให้ต้นทุนในการพัฒนาไม่สูงเกินไป เพราะมีผลต่อราคาขาย ผู้ประกอบการยังไม่ต้องการปรับราคาขายเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา แต่หลังจากนี้คงปรับราคาขายเพิ่มขึ้นกันทุกราย

          อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC) ได้จัดทำดัชนีราคาที่อยู่อาศัย โดย ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ กล่าวว่า ดัชนีราคาบ้านจัดสรรใหม่ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 130.2 โดยเพิ่มขึ้น 2.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 2.4% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่มีค่าดัชนี 127.2 โดยพบว่าส่วนใหญ่เป็นโครงการใหม่ที่มีการเปิดขายในไตรมาส 4/65 ซึ่งส่วนใหญ่มีต้นทุนค่าก่อสร้างสูงขึ้นตามราคาวัสดุก่อสร้างที่ยังคงเพิ่มขึ้นเกือบทุกหมวดยกเว้นหมวดกระเบื้องเมื่อเทียบราคากับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จึงทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับราคาสูงขึ้นเล็กน้อย

          โดยเมื่อจำแนกดัชนีราคาบ้านจัดสรรตามพื้นที่ พบว่า กทม.มีค่าดัชนีเท่ากับ 126.1 เพิ่มขึ้น 0.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าเพิ่มขึ้น 0.2% ขณะที่ใน 3 จังหวัดปริมณฑล คือ สมุทรปราการ นนทบุรี และปทุมธานี มีค่าดัชนีเท่ากับ 132.5 เพิ่มขึ้น 3.8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าลดลง 3.4%

          ส่วนดัชนีราคาบ้านเดี่ยว กทม.และปริมณฑลไตรมาส 4/65 มีค่าดัชนีเท่ากับ 131.0 เพิ่มขึ้น 4.9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าเพิ่มขึ้น 2.8% และเมื่อจำแนกพื้นที่พบว่า ดัชนีราคาบ้านเดี่ยว มีการเพิ่มขึ้นมากในพื้นที่ 3 จังหวัดปริมณฑล ขณะที่พื้นที่กรุงเทพฯ ลดลงเล็กน้อย

          ขณะที่ดัชนีทาวน์เฮาส์ด้านดัชนีราคาทาวน์เฮาส์ ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล ไตรมาส 4/65 มีค่าดัชนีเท่ากับ 129.3 เพิ่มขึ้น 0.4% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าเพิ่มขึ้น 1.8% โดยมีค่าดัชนีเท่ากับ กทม.อยู่ที่ 128.2 เพิ่มขึ้น 0.9% เมื่อเทียบกับปีก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าเพิ่มขึ้น 2.2%

          ล่าสุด ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ รายงานดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ประจำไตรมาส 4/65 พบว่ามีค่าดัชนี 381.4 จุด เพิ่มขึ้น 3.4% จากไตรมาส 3/65 และเพิ่มขึ้น 12.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 64 โดย ดร.วิชัย กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้ราคาที่ดินเปล่ามีการเพิ่มขึ้นมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังยืดเยื้อ จนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ซึ่งอาจจะทำให้เศรษฐกิจไทย ปี 66 ขยายตัวลดลง รวมถึงรัฐบาลได้ประกาศจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเต็มอัตรา

          ขณะที่ กรมธนารักษ์ ได้ประกาศราคาประเมินที่ดินใหม่รอบปี 66-69 ในวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งมีผลให้ภาพรวมของราคาประเมินที่ดินทั้งประเทศปรับขึ้นเฉลี่ย 8% ปัจจัยเหล่านี้ได้ทำให้เจ้าของที่ดินขายที่ดินสู่ตลาดเพื่อลดภาระการจ่ายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ขณะที่ความต้องการซื้อที่ดินสะสมในตลาดมีการปรับตัวลดลง

          ทั้งนี้ ในไตรมาส 4/65 นี้พบว่า ทำเลราคาที่ดิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุด 5 อันดับแรกคือ อันดับ 1 ทำเลโซนบางพลี-บางบ่อ-บางเสาธง โดยมีอัตราการปรับตัวเพิ่มขึ้น 57.3% อันดับ 2 ทำเลในโซนเมืองนนทบุรี-ปากเกร็ด ซึ่งมีอัตราการปรับตัวเพิ่มขึ้น 46.9% อันดับ 3 ที่ดินในโซนเมืองปทุมธานี-ลาดหลุมแก้ว-สามโคก ปรับตัวเพิ่มขึ้น 31.9% อันดับ 4 ที่ดินในโซนกรุงเทพฯ ชั้นใน มีอัตราการปรับตัวเพิ่มขึ้น 16.6% และอันดับ 5 ที่ดินในโซนบางเขนสายไหม-ดอนเมือง-หลักสี่-มีนบุรี-หนองจอก-คลอง สามวา-ลาดกระบัง ซึ่งมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น10.1%

          สำหรับการเปลี่ยนแปลงของราคาที่ดินดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ที่ดินที่อยู่บริเวณพื้นที่ชานเมืองของกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคาซื้อขายที่ดินที่ยังไม่สูงมากนัก ขณะที่ความต้องการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบมีมากขึ้น ให้สอดคล้องกับความสามารถในการซื้อและความต้องการที่อยู่อาศัยแนวราบของผู้บริโภคที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ราคาที่ดินในเขตชั้นในและชั้นกลางของกรุงเทพฯ มีราคาที่สูงอยู่ค่อนข้างมาก ทำให้ไม่สามารถปรับขึ้นราคาได้มากนัก เมื่อเทียบกับราคาที่ดินในทำเลรอบเมืองหรือทำเลย่านชานเมือง

          สำหรับราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในแนวเส้นทางที่มีรถไฟฟ้าผ่านในไตรมาส4/65 พบว่า แนวเส้นทางรถไฟฟ้า 5 อันดับแรกที่มีอัตราการปรับตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้นสูงสุด ประกอบด้วย 1. แนวรถไฟฟ้า MRT ซึ่งเป็นเส้นทางรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการแล้ว โดยมีค่าดัชนี 508.3 จุด มีอัตราการปรับตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 16.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 64 โดยราคาที่ดินในเขตบางซื่อเป็นบริเวณที่มีราคาปรับตัวมากที่สุด อันดับ 2 คือ ที่ดินเลียบแนวรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-หัวลำโพง) ซึ่งเป็นโครงการในอนาคตมีค่าดัชนีเท่ากับ 500.4 จุด โดยมีอัตราการปรับตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 16.6% โดยราคาที่ดินในเขตบางรักและสัมพันธวงศ์มีราคาเพิ่มขึ้นมากที่สุด

          ขณะที่อันดับ 3 ได้แก่ ที่ดินในแนวรถไฟฟ้าสาย สีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) มีค่าดัชนี 477.3 จุด โดยมีอัตราการปรับตัวของราคาที่ดินเพิ่ม 16.6% โดยราคาที่ดินในเขตจตุจักร ดอนเมือง และบางเขน เป็นทำเลที่ราคาปรับตัวสูงสุด อันดับ 4 ที่ดินในแนวรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง-บางแค) มีค่าดัชนี 488.4 จุด มีอัตราการปรับตัวเพิ่มขึ้น 13.1% โดยราคาที่ดินในเขตภาษีเจริญปรับตัวขึ้นสูงสุด และอันดับ 5 ที่ดินในแนวรถไฟฟ้าสายสีทอง (ธนบุรี-ประชาธิปก) มีค่าดัชนี 481.4 จุด มีอัตราการปรับตัวของราคาที่ดิน 13.1% โดยราคาที่ดินในเขตคลองสานปรับตัวสูงสุด

          จากผลการจัดทำดัชนีราคาที่ดินเปล่าและราคาที่อยู่อาศัยในช่วงไตรมาส 4/65 ซึ่งพบว่าดัชนีของราคาที่ดินเปล่า และดัชนีราคาที่อยู่อาศัยมีอัตราการปรับตัวสูงขึ้นทั้งสองส่วน สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการปรับตัวของราคาที่ดินในช่วงที่ผ่านมีผลต่อการขยับขึ้นของราคาที่อยู่อาศัยในปี 66 นี้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ คาดว่าหลังจากที่มีการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าในเส้นทางใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น จะทำให้ในอนาคตทำเลย่านชานเมืองหรือรอบนอกกทม. มีการปรับตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้นไปอีก และแน่นอนว่าคงหนีไม่พ้นที่ราคาบ้านใหม่จะปรับตัวสูงขึ้นไปด้วย