วิเคราะห์ตลาดอสังหาแววฟื้น รอลุ้นปัจจัยบวกหนุนครึ่งหลัง
Loading

วิเคราะห์ตลาดอสังหาแววฟื้น รอลุ้นปัจจัยบวกหนุนครึ่งหลัง

วันที่ : 20 สิงหาคม 2567
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เปิดเผย สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยว่า ในช่วงไตรมาสที่ 2/2567 ยังชะลออยู่แต่ก็มีทิศทางที่ดีขึ้นเทียบจากไตรมาส 1/2567 พอสมควร
         
        วิเคราะห์ภาพรวมอสังหาครึ่งปีหลัง 2567 จะดีขึ้น จากสัญญาณช่วงไตรมาส 2/2567 ติดลบน้อยลง จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหา และสถาบันการเงินเริ่มปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ด้านบ้านใหม่ยอดขายชะลอตัว แต่บ้านมือสองปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะอาคารชุดมือสองขายดีหวังภาพทั้งปีติดลบต่ำกว่า 5%

        ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคาร และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยว่า "REIC" ในช่วงไตรมาสที่ 2/2567 ยังชะลออยู่แต่ก็มีทิศทางที่ดีขึ้นเทียบจากไตรมาส 1/2567 พอสมควร แม้ว่าการขยายตัวของจำนวนหน่วยและมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ และจำนวนเงินสินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลปล่อยใหม่ในช่วงไตรมาสที่ 2/2567 ยังคงติดลบเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่มีทิศทางที่ติดลบน้อยลงมีการขยายตัวจากไตรมาส 1/2567 อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลที่เริ่มใช้ตั้งแต่ 9 เมษายน 2567

         ขณะที่หน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศในช่วงไตรมาสที่ 2/2567 มีจำนวน 86,998 หน่วยมูลค่า 243,404 ล้านบาท โดยจำนวนหน่วยโอนลดลง 4.5% และมูลค่าลดลง 5.7% ซึ่งเป็นผลจากการที่สถาบันการเงินยังคงเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ โดยพบว่ามูลค่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลปล่อยใหม่ทั่วประเทศมีจำนวน 144,115 ล้านบาท ลดลง 10.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2/2566 แต่การชะลอตัวของด้านอุปสงค์ในไตรมาสนี้มีการติดลบน้อยลงจากไตรมาสแรก ที่เคยติดลบสูงถึง 13.8%,13.4% และ 20.5% ตามลำดับ

         หากพิจารณาถึงการขยายตัวการเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน (QoQ) แล้วพบว่าจำนวนหน่วยและมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยอาศัยมีการขยายตัว 19.3% และ 16.6% ตามลำดับ ขณะที่จำนวนสินเชื่อ ที่อยู่อาศัยบุคคลปล่อยใหม่มีการขยายตัว 18.6%

         บ้านมือสองขายดี

         ด้านบ้านแนวราบชะลอตัว ขณะที่อาคารชุดมีการขยายตัว และตลาดบ้านมือสองชะลอตัวน้อยกว่าบ้านใหม่ เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างหน่วยโอนกรรมสิทธิ์บ้านแนวราบใหม่และมือสอง พบว่าบ้านแนวราบมือสอง มีการชะลอตัวทั้งหน่วยและมูลค่า โดยลดลง 7.0% และ 7.1% ขณะที่บ้านแนวราบใหม่ ชะลอตัวลดลง 16.2% และ 5.7% ตามลำดับ โดยระดับราคาของบ้านแนวราบใหม่ที่ลดลงน้อยกว่าภาพรวมได้แก่ ระดับราคา 1.01-2.00 ล้านบาท และ 5.01-10.00 ล้านบาท และบ้านแนวราบใหม่ราคามากกว่า 10 ล้านบาท มีการขยายตัว 10.1%

         ในขณะที่จำหน่วยโอนกรรมสิทธิ์อาคารชุดเพิ่มขึ้น 8.9% โดยมีจำนวน 28,431 หน่วย และมูลค่าลดลง 3.9% โดยมีมูลค่า 70,515 ล้านบาท ซึ่งระดับราคาที่มีขยายตัวเป็นบวก เป็นกลุ่มอาคารชุดที่ราคาไม่เกินกว่า 5 ล้านบาท

         อุปสงค์ชะลอแรง

         ขณะที่ภาพรวมด้านอุปสงค์ในครึ่งปีแรก 2567 นับได้ว่าเป็นการชะลอตัวที่แรงกว่าในช่วงหลายปีที่ ผ่านมา แม้กระทั่งในช่วงโควิด-19 ในปี 2563-2564 โดยพบว่า ในครึ่งปีแรก 2567 มีจำนวนหน่วยและมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยเพียง 159,952 หน่วย และ 452,136 ล้านบาท ซึ่งลดลง 9.0% และ 9.4% ตามลำดับ และมีจำนวนเงินสินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลปล่อยใหม่ เพียง 265,644 ล้านบาท ลดลง 15.2% เมื่อเที่ยบกับครึ่งปีแรกของปี 2566

         โดย REIC ประเมินทิศทางตลาดที่อยู่อาศัยปี 2567 โดยได้มีการปรับประมาณการจากข้อมูลที่เกิดขึ้นจริงในช่วงครึ่งปีแรก ประกอบด้วยอัตราขยายตัว GDP อัตราดอกเบี้ย MRR เฉลี่ย 6 ธนาคาร อัตราเงินเฟ้อทั่วไป อัตราดูดซับ รวมถึงผลกระทบจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์